Skip to content

รายชื่อสแตนด์ JOJO พร้อมที่มาของชื่อสแตนด์และตัวละครในภาค Stone Ocean

เวลาที่ใช้อ่าน : 7 นาที

โจโจ้ ล่าข้ามศตวรรษ (JoJo’s Bizarre Adventure) เป็นการ์ตูนที่อ่านมาตั้งแต่สมัย ม.ต้น ช่วงปี พ.ศ. 30’s โน่นเลย ที่ตอนนั้นใช้ชื่อว่า “หน้ากากทมิฬ” เป็นหนึ่งในการ์ตูนที่มีอิทธิพลต่อการฟังเพลงของผมเหมือนกันโดยเฉพาะเพลงร็อค และตั้งแต่ภาค 3 Stardust Crusaders – นักรบประกายดาว เป็นต้นมา ตัวละครเริ่มมีพลังสแตนด์และชื่อของสแตนด์นั้นนอกจากจะมาจากไพ่ทาโรต์แล้วนั้น ก็จะมาจากชื่อวงดนตรีหรือเพลงอีกด้วย ซึ่งตอนนั้นบางวงหรือบางเพลงก็ยังไม่รู้จักเสียด้วยซ้ำ

มีโพสท์สแตนด์ภาคอื่นๆ อีก คลิกด้านล่างได้เลยครับ 👇👇👇

ก่อนที่จะได้กลับมาดูแบบอนิเมะใน NETFLIX อีกครั้ง ทำให้รำลึกถึงอดีตอยู่เหมือนกันและปัจจุบันการฟังเพลงเยอะมากขึ้นกว่าในอดีต ยิ่งทำให้รู้จักและค้นหาที่มาของชื่อสแตนด์ได้มากขึ้น เลยจะมาเล่าให้ฟังถึงที่มาชื่อของตัวละคร ชื่อสแตนด์ ในภาค 6 Stone Ocean – สโตนโอเชี่ยน (อนิเมะใน Netflix เป็น Season 5)แต่ระวังอาจพบสปอยล์ได้นะครับหากยังดูไม่จบ

คูโจ โจลีน (Jolyne Cujoh , 空条 徐倫)

สแตนด์ : สโตน ฟรี (Stone Free)

คูโจ โจลีน (Jolyne Cujoh) : ตัวเอกของเรื่องและลูกสาวของคูโจ โจทาโร่ ตัวเอกจากภาค 3 โดยชื่อของ “Jolyne” นั้น มาจากเพลง “Jolene” ของ Dolly Parton นักร้องแนวคันทรี่-ป็อปหญิงอเมริกันยุค 60’s (แบบ Taylor Swift ในปัจจุบัน) และผีเสื้อที่เหมือนเป็นสัญลักษณ์ของโจลีนก็ยังมาจากเพลงและธุรกิจของ Dolly Parton อีกด้วยนะ โดยเพลง Jolene ออกเป็นซิงเกิ้ลในปี 1973 และออกเป็นอัลบั้มในชื่อ Jolene เหมือนกันในเดือนกุมภาพันธ์ 1974 และเพลงนี้ยังติดอยู่ในลิสท์ของแม็กกาซีนเพลงชื่อดังอย่าง Rolling Stone’s 500 Greatest Songs of All Time และยังเป็นเพลงที่ถูกนำไปคัฟเว่อร์เยอะที่สุดของ Dolly Parton

โจลีน เป็นผู้ใช้สแตนด์ “Stone Free” ที่เป็นกลุ่มด้ายที่มารวมกันกลายเป็นร่างกายที่แข็งแกร่ง มีพลังทำลายสูงดั่งเช่นพลังของคนที่มีสายเลือดโจสตาร์นั่นแหละครับ โดยชื่อ “สโตน ฟรี” นั้นมาจากเพลงร็อคในตำนานของ Jimi Hendrix ในนามวง The Jimi Hendrix Experience ในปี 1966 ที่ตอนนั้นออกมาเป็นซิงเกิ้ลพร้อมกับเพลงฮิตอย่าง “Hey Joe” และเพลง “Stone Free” ถูกมาอยู่ในอัลบั้ม Are You Experienced ในรูปแบบ CD ปี 1997 (อัลบั้มนี้ออกครั้งแรกในปี 1967)


เฮอร์เมส คอสเตลโล่ (Ermes Costello , エルメェス・コステロ)

สแตนด์ : คิส (Kiss)

เออร์เมส คอสเตลโล่ (Ermes Costello) : เพื่อนคู่หูของโจลีนที่พบกันในคุกนั้น ที่มาของชื่อตัวละครมาจากสินค้าแบรนด์เนม “Hermes – แอร์เมส” (ฟังเสียงพากษ์ญี่ปุ่นก็ได้ยินออกเสียงว่า “แอร์เมส” แต่ซับไทยเขียนเออร์เมส) และนามสกุลนั้นมาจากนักร้องแนวป็อปพั้งค์ยุค 70’s จากอังกฤษ “Elvis Costello” ที่มีเพลงดังอย่าง Oliver’s Army ออกในปี 1979 ที่ออกในนาม Elvis Costello and the Attractions

แอร์เมส มีสแตนด์ “Kiss – คิส” มีความสามารถในการสร้างสติ๊กเกอร์ชิ้นเล็กๆออกมา เมื่อนำไปติดจะทำให้ของนั้นเพิ่มจำนวนเป็นสองชิ้น และเมื่อดึงสติ๊กเกอร์ออกสิ่งของนั้นก็จะมารวมเป็นชิ้นเดียวเหมือนเดิม แต่จะเกิดความเสียหายขึ้น โดยที่มาของชื่อสแตนด์นี้มาจากวงร็อคชื่อดังจากนิวยอร์ค KISS ที่การแต่งหน้า การแต่งตัว และการแสดงสดที่เป็นเอกลักษณ์ตั้งแต่ยุค 70’s ทั้งยังอยู่ในทำเนียบ Rock and Roll Hall of Fame อีกต่างหาก มีเพลงดังๆ อย่าง “Rock and Roll All Nite,” “I Was Made for Lovin’ You,” “Beth,” “Detroit Rock City,” และ”Love Gun.”


ฟูไฟเตอร์ (Foo Fighter , フー・ファイターズ)

สแตนด์ : ฟูไฟเตอร์ (Foo Fighter)

ฟูไฟเตอร์ (Foo Fighter) : ตัวละครฝั่งตัวเอกของเรื่อง ที่มาของชื่อนั้นเดาได้ไม่ยาก มาจากชื่อวง Foo Fighter ตรงๆ เลยนั่นแหละครับ วงร็อคที่มีเพลงดังอย่าง “Everlong,” “My Hero,” “Learn to Fly,” “Best of You,” และ “All My Life.” เนื่องจากฟูไฟเตอร์เป็นแพลงตอนที่ได้รับการวิวัฒนาการเป็นสแตนด์ด้วยตัวเอง ที่ต่างจากตัวละครอื่นที่มีร่างกายหลักแล้วสแตนด์เป็นพลังเสริม จึงมีแค่ชื่อ Foo Fighter เท่านั้น โดยในอนิเมะมักจะเรียกย่อว่า F.F. และที่มาของชื่อ F.F. นั้นก็มาจากสินค้าแบรนด์เนมชื่อดังอย่าง Fendi อีกด้วย (ทีมีโลโก้เป็นเวอร์ชั่น FF 2ตัวกลับตัว)


เอมโพริโอ้ อัลนีโย่ (Emporio Alniño , エンポリオ・アルニーニョ)

สแตนด์ : เบิร์นนิ่ง ดาวน์ เดอะ เฮาส์ (Burning Down the House)

เอ็มโพริโอ้ อัลนีโย่ (Emporio Alniño) : เจ้าหนูในชุดเบสบอลมักจะค้นคว้าหาความรู้จากการอ่านหนังสืออยู่เสมอ ทำให้ช่วยเหลือพวกโจลีนในการเอาตัวรอดได้บ่อยๆ โดยชื่อนั้นมาจาก Emporio Armani แบรนด์สินค้าแฟชั่นชื่อดังในเครือ Armani และสแตนด์ของเอ็มโพริโอ้คือ “Burning Down the House – เบิร์นนิ่ง ดาวน์ เดอะ เฮาส์” ไม่มีพลังในการโจมตีหรือทำลาย แต่สามารถนำเอา “วิญญาณสิ่งของ” ในอดีตมาใช้ได้ตามใจชอบ

โดยชื่อสแตนด์นั้นนำมาจากชื่อเพลงของวง Talking Heads แนวเพลงนิวเวฟในยุค 80’s จากรัฐโรดไอแลนด์ เพลงที่ถูกนำชื่อมาใช้นั้น มาจากอัลบั้มที่ 5 ที่ชื่อว่า Speaking in Tongues ออกวางจำหน่ายในปี 1983 เพลงนี้เป็นเพลงฮิตติดชาร์ทสูงสุดของวง แต่ฮิตเฉพาะในอเมริกาเท่านั้นนะ นอกอเมริกาไม่ค่อยประสบความสำเร็จเท่าไหร่


เวเธอร์ รีพอร์ต (Weather Report , ウェザー・リポート)

สแตนด์ : เวเธอร์ รีพอร์ต (Weather Report)

เวธเธอร์ รีพอร์ต (Weather Report) : ชายหนุ่มลึกลับที่อยู่กับเอมโพริโอ้ใน”ห้องวิญญาณ” ไม่ค่อยพูดจา เนื่องจากตนเองสูญเสียความทรงจำไป จำไม่ได้แม้แต่ชื่อตนเอง จึงถูกเรียกว่า เวธเธอร์ รีพอร์ต ตามชื่อสแตนด์ โดยชื่อนั้นนำมาจากวงอเมริกันแจ๊สฟิวชั่น และภายหลังสแตนด์ได้มีพลังสแตนด์เพิ่มขึ้นอีกที่ชื่อว่า “Heavy Report” นั้นก็ยังถูกนำมาจากชื่ออัลบั้มของวง Weather Report ที่ออกในปี 1977 เป็นอัลบั้มที่ประสบความสำเร็จสูงสุดของวง มีเพลง “Birdland” ในอัลบั้มที่ทริบิ้วท์แจ๊สไนท์คลับ “Birdland” ในนิวยอร์ค ซึ่งเป็นแหล่งรวมศิลปินแจ๊สไว้ทำการแสดง (ไม่ใช่เบิร์ดแลนด์แดนมหัศจรรย์ของพี่เบิร์ดนะครับ 😆)


อนาซุย นาร์ซิสโซ่ (Narciso Anasui , ナルシソ・アナスイ)

สแตนด์ : ไดฟเวอร์ ดาวน์ (Diver Down)

อนาซุย นาร์ซิสโซ่ (Narciso Anasui) : บุคคลอีกคนหนึ่งที่อยู่กับเวธเธอร์รีพอร์ตตอนเปิดตัว โดยชื่อนั้นนำมาจากดีไซน์เนอร์อเมริกันเชื้อสายจีน “Anna Sui – แอนนาซุย” ที่เป็นแบรนด์แฟชั่นชั้นนำ และนามสกุลนำมาจาก “Narciso Rodriguez – นาร์ซิโซ่ รอดริเกวซ” แฟชั่นดีไซน์เนอร์ชาวอเมริกัน ที่มีน้ำหอม Narciso Rodriguez for her เป็นเรือธง โดยอนาซุยมีสแตนด์ชื่อว่า “Diver Down – ไดฟเวอร์ ดาวน์” สามารถมุดเข้าไปในวัตถุ แล้วประกอบโครงสร้างภายในใหม่ได้ตามใจชอบ ชื่อสแตนด์นั้นนำมาจากชื่ออัลบั้มจากวงร็อคชื่อดัง Van Halen ที่ออกในปี 1982 มีเพลงดังๆ อย่าง “(Oh) Pretty Woman” และ “Little Guitars” ซึ่งอัลบั้มนี้มีเพลงคัฟเวอร์ถึง 5 เพลงจากศิลปินอย่าง The Kinks,  Roy Orbison and the Candy Men, Martha Reeves & The Vandellas, Margaret Young และ Roy Rogers and Dale Evans และอัลบั้มนี้ติดชาร์ทยาวนานถึง 65 สัปดาห์


เอ็นริโก้ พุชชี่ (Enrico Pucci , エンリコ・プッチ)

สแตนด์ :  ไวท์ สเนค (Whitesnake) / ซี มูน (C-Moon) / เมด อิน เฮฟเว่น (Made in Heaven)

เอ็นริโก้ พุชชี่ (Enrico Pucci) : บาทหลวงตัวร้ายซึ่งเป็นเพื่อนของตัวร้ายจากภาคก่อนๆ “ดีโอ” อีกต่างหาก โดยชื่อนั้นนำมาจาก Enrico Coveri แฟชั่นดีไซน์เนอร์ชาวอิตาลี ส่วนนามสกุลมาจาก Emilio Pucci ชนชั้นสูงในอิตาลี ที่มีแบรนด์แฟชั่นในชื่อเดียวกัน

บาทหลวงพุชชี่นั้นพิเศษกว่าตัวละครอื่นๆ ในภาค ที่มักจะมีสแตนด์เพียงตัวเดียว แต่บาทหลวงนั้นมีสแตนด์ถึง 3 ตัว 3 ชื่อด้วยกัน โดยมีสแตนด์ตัวเริ่มต้นคือ “Whitesnake – ไวท์ สเนค” มีพลังทำลายแค่เท่าคนธรรมดา แต่ก็ชดเชยให้สามารถดึงเอาความทรงจำและ “ความสามารถสแตนด์” ของคนอื่นๆมาเก็บไว้เป็นแผ่นดิสก์ได้ ผู้ที่ถูกดึงเอาความทรงจำไปจะเหลือแต่เพียงร่างกายที่ไร้จิตวิญญาณ ซึ่งชื่อสแตนด์นั้นนำมาจากวงฮาร์ดร็อคจากลอนดอนที่ประสบความสำเร็จในช่วงยุค 80’s และมีอัลบั้มในชื่อเดียวกันออกในปี 1987 มีเพลงอย่าง “Here I Go Again”, “Is This Love”, “Give Me All Your Love”, “Still of the Night” และ “Crying in the Rain”

สแตนด์ตัวที่ 2 คือ “C-Moon – ซี มูน (พระจันทร์เสี้ยว)” ที่เป็นร่างพัฒนาของ Whitesnake รวมกับทารกเขียว(ที่เกิดจากวิญญาณคนชั่วร้าย 36 คน, กระดูกของดีโอ) โดยชื่อนี้นำมาจากเพลงของวง Wings ที่มีอดีต The Beatles คือ Paul McCartney เป็นผู้ก่อตั้งวงหลังจากบีทเทิ้ลส์วงแตก เพลงนี้มีจังหวะกลิ่นอายเร็กเก้ ซึ่งพอลและภรรยาร่วมกันแต่งเพลงนี้ขึ้นมาและออกจำหน่ายเป็นซิงเกิ้ลคู่กับเพลง “Hi Hi Hi” ในปี 1972 โดยเพลงนี้ไต่อันดับสูงสุดอันดับที่ 5 ของ UK Singles Chart อีกด้วย

และสแตนด์ร่างสุดท้ายที่พัฒนาจาก C-Moon คือ “Made in Heaven – เมด อิน เฮฟเว่น” โดยชื่อนี้นำมาจากงานเดี่ยวของ Freddie Mercury ในอัลบั้ม Mr. Bad Guy ในปี 1985 และหลังจากเฟรดดี้เสียชีวิตในปี 1991นั้น เพลงนี้ถูกนำมาใส่ในอัลบั้มของวง Queen กับชื่ออัลบั้ม Made in Heaven ในปี 1995 (อัลบั้มนี้เป็น Posthumous album หรืออัลบั้มที่ถูกบันทึกเสียงไว้ก่อนและถูกวางจำหน่ายหลังเสียชีวิต) โดยเพลงนี้ ไบรอัน เมย์ มือกีต้าร์วงควีนบอกไว้ว่าเป็นหนึ่งในเพลงที่ชอบที่สุดของเค้าเลยทีเดียว และเนื่องจากเพลงนี้เป็นทั้งงานเดี่ยวและในนามวง ทำให้เพลงนี้มี 2 เวอร์ชั่น คือ Original version และ Queen version


เกวส (Gwess , グェス)

สแตนด์ : กู กู ดอลส์ (Goo Goo Dolls)

เกวส (Gwess) : เพื่อนร่วมห้องขังของโจลีน ที่มารับน้องโจลีนด้วยการใช้สแตนด์ Goo Goo Dolls จนทำให้สแตนด์ Stone Free ของโจลีนปรากฏออกมาสู้กัน โดยชื่อของเกวสนั้น เพี้ยนมาจากสินค้าแฟชั่นแบรนด์เนม Guess และชื่อสแตนด์นั้นนำมาจากชื่อวงร็อคจากนิวยอร์คที่โด่งดังช่วงยุค 90’s – 00’s มีเพลงดังอย่าง “Iris”, “Slide”, “Name” และ “Here is Gone” เป็นต้น


จอห์นกัลลิ เอ (Johngalli A , ジョンガリ・A)

สแตนด์ : แมนฮัทตัน ทรานส์เฟอร์ (Manhattan Transfer)

จอห์นกัลลิ เอ (Johngalli A) : มือสไนเปอร์สังหารแต่ตาบอดลูกน้องของดีโอ มีสแตนด์ Manhattan Transfer เป็นผู้ช่วยเหมือนเรดาห์คอยชี้เป้า โดยชื่อ Johngalli A นำมาจากชื่อ John Galliano แฟชั่นดีไซน์เนอร์ชาวอังกฤษ และ ชื่อสแตนด์นั้นนำมาจากชื่อกลุ่มนักร้องประสานเสียงแนวแจ๊ส The Manhattan Transfer จากนิวยอร์ค นอกจากฝากเสียงร้องในเพลง Birdland ของ Weather Report แล้ว ยังมีเพลงอื่นๆ อีกเช่น “Chanson d’Amour”, “Operator”, “The Boy from New York City” และ “Twilight Zone/Twilight Tone”


ทันเดอร์ แม็คควีน (Thunder McQueen , サンダー・マックイイーン)

สแตนด์ : ไฮเวย์ ทู เฮล (Highway to Hell)

ทันเดอร์ แม็คควีน (Thunder McQueen) : ผู้ที่ได้รับพลังสแตนด์จากบาทหลวงพุชชี่ มีสแตนด์ชื่อว่า Highway to Hell ที่ชื่อนี้นำมาจากเพลงดังและชื่ออัลบั้มในปี 1979 ของวง AC/DC จากออสเตรเลีย และชื่อ Thunder McQueen นำมาจากดีไซน์เนอร์ผู้ล่วงลับชาวอังกฤษ Alexander McQueen


มิราชอน (Miraschon , ミラション)

สแตนด์ : มาริลีน แมนสัน (Marilyn Manson)

มิราชอน (Miraschon) : อีกหนึ่งนักโทษหญิงที่บาทหลวงมอบพลังสแตนด์ให้เพื่อมากำจัดพวกของโจลีน โดยชื่อมิราชอนนั้นมาจากแฟชั่นดีไซน์เนอร์ชาวอิตาเลี่ยน Mila Schön และมีสแตนด์ที่ชื่อว่า Marilyn Manson ก็ถูกนำมาจากวงมทัลชื่อดัง Marilyn Manson ซึ่งวงนี้ตั้งชื่อโดยนำชื่อนักแสดงหญิงเซ็กซี่ในอดีต Marilyn Monroe มารวมกับชื่อฆาตกรและเจ้าลัทธิในอดีต Charles Manson มารวมเข้าด้วยกัน และวงนี้ยังมีนักร้องนำชื่อ Marilyn Manson อีกด้วย แต่ชื่อเดิมของเค้าคือ Brian Hugh Warner โดยมีเพลงดังอย่าง “The Beautiful People,” “Sweet Dreams (Are Made of This),” “Antichrist Superstar,” “Disposable Teens,” และ “The Dope Show.”


แลง แรงเลอร์ (Lang Rangler , ラング·ラングラー)

สแตนด์ : จั้มปิ้ง แจ๊ค เฟลช (Jumpin’ Jack Flash)

แลง แรงเลอร์ (Lang Rangler) : ชื่อผู้ใช้สแตนด์นำมาจากแฟชั่นดีไซน์เนอร์ชาวออสเตรียที่มีงานอยู่ในนิวยอร์ค Helmut Lang และนามสกุลนั้นนำมาจากยี่ห้อกางเกงยีนส์ Wrangler มีสแตนด์ชื่อว่า Jumpin’ Jack Flash ที่ชื่อนั้นนำมาจากเพลงร็อคปี 1968 ของวงร็อครุ่นใหญ่จากอังกฤษ The Rolling Stones


สปอร์ทแม็กซ์ (Sports Maxx , スポーツ・マックス)

สแตนด์ : ลิ้มพ์ บิสกิต (Limp Bizkit)

สปอร์ทแม็กซ์ (Sports Maxx) : ชื่อผู้ใช้สแตนด์นำมาจากแบรนด์แฟชั่นจากอิตาลีที่ชื่อว่า Max Mara และมีสแตนด์ชื่อว่า “Limp Bizkit – ลิ้มพ์ บิสกิต” ที่นำชื่อมาจากวงแร็พเมทัล/นู-เมทัลชื่อดังต้นปี 2000 ที่มีเพลงฮิตติดชาร์ทอย่าง “Break Stuff,” “My Way,” “Nookie,” “Rollin’,” และ “Behind Blue Eyes.”


กุชชิโอ(Guccio , グッチョ)

สแตนด์ : เซอร์ไวเวอร์(Survivor)

กุชชิโอ(Guccio) ผู้ใช้สแตนด์ เซอร์ไวเวอร์(Survivor) : ชื่อนั้นนำมาจากผู้ต่อตั้งแบรนด์เนม Gucci คือ Guccio Gucci ส่วนสแตนด์นั้นนำชื่อมาจากวงร็อคที่มีเพลงดังของเวทีมวยคือวง Survivor และเพลงที่ว่านั้นคือเพลง Eye Of The Tiger ที่เราคุ้นเคยจากหนังเรื่อง Rocky III (1982) นอกนั้นยังมีเพลงฮิตอื่นๆ อีกอย่างเพลง “Burning Heart” , “The Search Is Over” , “High on You” , “Is This Love” , และ “I Can’t Hold Back”


วิเวียโน่ เวสท์วูด(Viviano Westwood , ヴィヴァーノ・ウエストウッド)

สแตนด์ : แพลนเน็ต เวฟส์(Planet Waves)

วิเวียโน่ เวสท์วูด(Viviano Westwood) ผู้ใช้สแตนด์ แพลนเน็ต เวฟส์(Planet Waves) : ชื่อผู้ใช้สแตนด์นำมาจากดีไซน์เนอร์หญิงชื่อดังชาวอังกฤษ Vivienne Westwood และชื่อสแตนด์นั้นถูกนำมาจากอัลบั้มลำดับที่ 14 ของ Bob Dylan ที่ออกในปี 1974 ที่มีเพลงน่าสนใจอย่าง “On a Night Like This”, “Going, Going, Gone”, “Forever Young” และ “Dirge”


เคนโซะ(Kenzou , ケンゾー)

สแตนด์ : ดราก้อนดรีม(Dragon’s Dream)

เคนโซะ(Kenzou) ผู้ใช้สแตนด์ ดราก้อนดรีม(Dragon’s Dream) : ชื่อผู้ใช้สแตนด์นำมาจากแบรนด์หรูจากฝรั่งเศส Kenzo ที่มีดีไซน์เนอร์เชื้อสายญี่ปุ่น Kenzo Takada เป็นเจ้าของ ส่วนชื่อสแตนด์นั้นนำมาจากเพลงของนักดนตรีสายเครื่องเป่าแนวแจ๊สชื่อ Arkady Shilkloper จากอัลบั้ม Pilatus ที่ออกในปี 2000


ดีแอนจี(D an G , DアンG)

สแตนด์ : โยโย่มา(Yo-Yo Ma)

ดีแอนจี(D an G) ผู้ใช้สแตนด์ โยโย่มา(Yo-Yo Ma) : ชื่อผู้ใช้สแตนด์นำมาจากแบรนด์หรูจากอิตาลี Dolce & Gabbana (ดอลเช่ แอนด์ แกบาน่า) ส่วนชื่อสแตนด์นั้นมาจากนักดนตรีสัญชาติอเมริกันเชื้อสายจีน ที่เป็นนักเดี่ยวเชลโลที่มีชื่อเสียงคนนึงในวงการ


ทารกเขียว(The Green Baby , 緑色の赤ちゃん)

สแตนด์ : กรีน, กรีน กราส ออฟ โฮม (Green, Green Grass of Home)

ทารกเขียว(The Green Baby) ผู้ใช้สแตนด์ กรีน, กรีน กราส ออฟ โฮม (Green, Green Grass of Home) : ทารกเขียวนั้นยังไม่มีชื่อเรียก แต่เกิดมาพร้อมกับสแตนด์ไว้ป้องกันตัว โดยชื่อสแตนด์นั้นนมาจากเพลงแนวคันทรีที่ถูกอัดเสียงครั้งแรกโดย Johnny Darrell ในปี 1965 แต่ในปีเดียวกันนั้นถูกนำมาร้องอีกครั้งโดย Porter Wagoner และได้รับความนิยมสูงขึ้นเป็นอย่างมากจนติดอันดับที่ 4 ของชาร์ทเพลงคันทรี จากนั้นก็มีศิลปินแนวคันทรีนำไปบันทึกเสียงอีก เช่น  Bobby Bare และ Jerry Lee Lewis แต่เวอร์ชั่นที่ได้ความนิยมสูงสุดจนที่ท็อปอันดับ 1 ในหลายประเทศทั่วโลกในปี 1966 คือเวอร์ชั่นของ Tom Jones


มิวเซีย มิวเลอร์(Miuccia Miuller , ミュッチャー・ミューラー)/มิวมิว(Miu Miu , ミューミュー)

สแตนด์ : เจล เฮาส์ ล็อค(Jail House Lock)

มิวเซีย มิวเลอร์(Miuccia Miuller)/มิวมิว(Miu Miu) ผู้ใช้สแตนด์ เจล เฮาส์ ล็อค(Jail House Lock) : ชื่อผู้ใช้สแตนด์นำมาจากดีไซน์เนอร์แบรนด์เนมชื่อดังจากอิตาลี PRADA ที่มีชื่อว่า Miuccia Prada และชื่อเล่น “มิวมิว” นั้นก็ยังมาจากแบรนด์ที่แตกแขนงออกไปของพราดาเองอย่าง Miu Miu อีกด้วย(มิวมิว – และนี่ก็ชอบมองเห็นเป็น “กาเบ กาเบ”)ส่วนชื่อสแตนด์นั้นมาจากเพลงร็อคแอนด์โรลในปี 1957 “Jailhouse Rock” ของ Elvis Presley


อุงกาโล่(Ungalo , ウンガロ)

สแตนด์: โบฮีเมียน แรปโซดี้ (Bohemian Rhapsody)

อุงกาโล่(Ungalo) สแตนด์: โบฮีเมียน แรปโซดี้ (Bohemian Rhapsody) : ลูกนอกสมรสของดีโอที่บาทหลวงพุชชี่ปลุกพลังสแตนด์ขึ้นมา ชื่อของอุงกาโล่นั้นมาจากแฟชั่นดีไซน์เนอร์ชาวฝรั่งเศส “เอ็มมานูเอล อุงกาโร่ (Emanuel Ungaro)” ส่วนชื่อสแตนด์นั้นมาจากเพลงร็อคโอเปร่าอันโด่งดังของวง Queen จากอัลบั้ม  A Night at the Opera ปี 1975 เพลง Bohemian Rhapsody นั้นมีการเรียบเรียงที่ค่อนข้างซับซ้อนแบบยังไม่เคยมีใครทำมาก่อนในยุคนั้น คือ เพลงร็อคบัลลาดที่มีส่วนผสมของ โอเปร่า, การร้องประสานเสียง และ ฮาร์ดร็อค แม้เพลงจะมีความยาวถึง 5:55 นาที แต่ก็ฮิตติดชาร์ทในหลายๆ ประเทศ ติดชาร์ทชนิดหลายช่วงของทศวรรษ รวมถึงประสบความสำเร็จในแง่ของยอดขาย และ ความเป็นตำนานอีกด้วย


ริเคียล (Rikiel , リキエル)

สแตนด์: สกายไฮ (Sky High)

ริเคียล (Rikiel) สแตนด์: สกายไฮ (Sky High) : อีกหนึ่งลูกนอกสมรสของดีโอ “ริเคล” ที่ชื่อนำมาจาก “โซเนีย ริเคียล(Sonia Rykiel)” แฟชั่นดีไซน์เนอร์หญิงชาวฝรั่งเศส ส่วนชื่อสแตนด์นั้นมาจากเพลง Sky High ของวง Jigsaw จากอังกฤษที่ออกเป็นซิงเกิ้ลในปี 1975 และยังเป็นเพลงประกอบภาพยนตร์ “The Man from Hong Kong” อีกด้วย เพลงนี้เป็นที่ประสบความสำเร็จสูงสุดของวง และอาจจะเป็นเพลงเดียวด้วยซ้ำ ที่เรียกว่า One-hit wonder ก็ว่าได้


ดอนนาเทลโล เวอร์ซัส (Donatello Versus , ドナテロ・ヴェルサス)

สแตนด์: อันเดอร์ เวิลด์ (Under World)

ดอนนาเทลโล เวอร์ซัส (Donatello Versus) สแตนด์: อันเดอร์ เวิลด์ (Under World) : อีกหนึ่งลูกนอกสมรสของดีโอ “ดอนนาเทลโล เวอร์ซัส” ที่ชื่อนำมาจาก “ดอนนาเทลล่า เวอร์ซาเช (Donatella Versace)” ทายาท Versace แบรนด์เนมหรูจากอิตาลี ส่วนนามสกุลนั้นนำมาจากแบรนด์ที่แตกแขนงออกมาคือ “Versus” และชื่อสแตนด์นั้นนำมาจากวงดนตรีแนวอีเลคโทรนิกจากเมืองคาร์ดิฟฟ์ประเทศเวลส์ ที่มีเพลงดังอย่าง “Born Slippy .NUXX”, “Two Months Off”, “Moaner”, “Jumbo” และ “Dirty Epic”

ที่มา : jojo.fandom.com

ติดตาม Playlist นี้ได้ที่ Spotify


แสดงความคิดเห็น : Kitchen Rai

Your email address will not be published. Required fields are marked *