Skip to content

[รีวิว] แอน Faces of Anne (2022)

เวลาที่ใช้อ่าน : 2 นาที

NETFLIX ช่วงสัปดาห์สุดท้ายของเดือนมกราคม 2023 หนังไทยเรื่อง แอน (Faces of Anne) ติดอันดับ 1 ของภาพยนตร์ที่ถูกชมเยอะที่สุดในเมืองไทย แน่นอนฮิตขนาดนี้เราไม่พลาดที่จะเปิดดูแน่นอน

แต่พอเปิดดูไม่เท่าไหร่สักช่วง 20 นาทีแรกก็พบว่าเริ่มรู้สึกตะหงิดๆ แล้ว ไม่ใช่ว่าดูไม่รู้เรื่องหรอกนะ เพราะสไตล์เนื้อเรื่องและการเล่าจะคล้ายๆ กับ Memento (2000) ของโนแลน รวมๆ กับหนังแนวคล้ายๆกันอย่าง Identity (2003) กับ ซีรี่ย์ใน Netflix เรื่อง Russian Doll และหนังไซโคทริลเลอรส์ของต่างประเทศที่เห็นจนเกร่ออีกหลายๆ เรื่อง

ที่หงุดหงิดก็เพราะว่าการดำเนินเรื่องนั้นไม่ตื่นเต้น ไม่มีจุดที่จะพาชวนให้สงสัยและอยากดูต่อประมาณนั้น เป็นการดำเนินเรื่องที่เอื่อยเฉื่อยและไม่มีจุดเร่งที่ดีพอ ฉากสยองขวัญก็ไม่มีอะไรให้น่าจดจำแบบให้เป็นตำนานของเรื่องได้ด้วยซ้ำ

หนังพยายามเสนอสัญญะที่แฝงไว้ แต่คิดว่าทำออกมาแล้วล้มเหลวจริงๆ ไม่ใช่เพราะไม่เข้าถึง แต่เพราะว่านำเสนอออกมาไม่เฉียบคมพอ บางซีนบางครั้งมีความรู้สึกพยายามเป็นอย่าง DARK ใน NETFLIX นั่นเลย งานภาพบางอย่างก็มีความรู้สึก “อยากทำแบบเค้าบ้าง” อย่างฉากลงบันไดสามเหลี่ยมนั่น ซึ่งเราอคติไปแล้ว แต่ยิ่งเห็นกลับรู้สึกยิ่งเห่ยๆ อย่างบอกไม่ถูก

ส่วนสิ่งที่นำมาขายสูงสุดของเรื่องก็คือนักแสดง เรื่องนี้ยอมรับได้ในแง่ความแปลกใหม่ที่ดึงไอดอลสาวๆ มาร่วมแสดงในเรื่องเดียวกันได้เยอะดี แต่ก็เข้าใจได้ตรงนี้ที่เหมือนผู้กำกับจะติดกับดักการรวมดาราหลักเยอะเกินไป ต้องให้น้ำหนักบนหน้าจอพอๆ กัน เลยทำให้ยืดเยื้อออกไปโดยไม่จำเป็น รู้สึกเหมือนเอาน้ำพริกมาละลายแม่น้ำ เสียดายของมากๆ

ด้านงานโปรดักชั่นนั้น มีความพยายามที่จะเป็น “ฝรั่ง” มากจนเกินไป ดูๆไปแล้วมันขัดความเป็นบ้านเรา (ไม่ได้ชาตินิยมนะครับ) แต่มันทำให้ดูแล้วรู้สึกเคอะเขิล รู้สึกอินและมีส่วนร่วมได้ยาก อย่างการใช้ฉากโรงแรมเก่าๆ มาเป็นโรงพยาบาลจิตเวช รวมถึงตัวประกอบที่ทำงานที่นั่น ดูแล้วเหมือนงานธีสิสนักเรียนฟิล์มประมาณนั้นเลย แต่จะให้แปลก็เพราะภาพนั้นมาจากสมองของเด็กสาวก็ได้ แต่ภาพใหญ่ออกมาแล้วมันรู้สึกไม่ใช่และไม่เชื่อก็จบเลย

สรุปว่าหนังเรื่องนี้สามารถทำออกมาให้จบเป็นหนังสั้นยังได้ การยืดยาวเล่าเรื่องออกไปไม่มีอะไรให้น่าตื่นเต้น นอกจากว่าจะเป็นแฟนคลับของนักแสดงสาวๆ ให้ปรากฏตัวออกมาเท่านั้น หากหวังว่าจะได้ความระทึกขวัญฆ่ากันเลือดสาด หรือ มีความสนุกในการค้นหาตัวตนให้แอน กล้าบอกเลยว่าหนีไปก่อน ว่างจริงๆ แล้วค่อยดูครับ พอดูจบเห็นเครดิตตอนท้ายที่ชื่อผู้กำกับเป็นคงเดช จาตุรันต์รัศมี แอบช็อคนิดนึง เพราะว่างานล่าสุดใน Where We Belong (2019) นั้น ทำออกมาได้ดีกว่านี้มาก

สรุปแอนตัวจริงคือใคร

เท่าที่เข้าใจ แอนน่าจะเป็นคนที่นอนอยู่ในฉากโคม่าเราจะได้เห็นหน้าแอนเพียงนิดเดียว นั่นแหละคือแอนตัวจริง ด้วยความที่เป็นเด็กสาวยุคปัจจุบันที่ใช้สมาร์ทโฟนและคอมพิวเตอร์เสมือนเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต ทั้งการเล่นเกมส์และใช้โซเชียลเน็ตเวิร์คแต่งเป็นคอสเพลย์ รวมถึงมีอาการซึมเศร้าอยู่ด้วย

การที่โคม่านั้นอาจกระตุ้นจิตใต้สำนึกให้สร้างตัวตนออกมาได้หลายแบบเหมือนเปลี่ยนรูปอวตาร รวมถึงอาการทำให้สมองทำงานผิดเพี้ยนทำให้จิตใต้สำนึกแสดงอาการอิจฉา ริษยา หวาดกลัว และอยากเป็นที่ยอมรับ ออกมาในรูปแบบความฝันที่เราเห็นในหนังนั่นแหละครับ หรือ มีความรู้สึกบางห้วงที่เหมือนเพลงของดิ อิมพอสสิเบิ้ล “เป็นไปไม่ได้” ที่เปรียบเสมือนความน้อยเนื้อต่ำใจในตัวเอง ที่ไม่สามารถสร้างตัวเองขึ้นมาเยอะๆ เพื่อไปเอาใจคนๆ นึง หรือเป็นที่ยอมรับในสังคมทั้งชีวิตจริงและโซเชี่ยล

ตัวอย่างภาพยนตร์


แสดงความคิดเห็น : Kitchen Rai

Your email address will not be published. Required fields are marked *