Skip to content

[รีวิว] เมอร์เด้อเหรอ ฆาตกรรมอิหยังวะ : The Murderer (2023)

เวลาที่ใช้อ่าน : 2 นาที

เมอร์เด้อเหรอ ฆาตกรรมอิหยังวะ (The Murderer) เป็นภาพยนตร์ระทึกขวัญแบบดาร์กคอมเมดี้ที่ติดตามเรื่องราวการพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของ “เอิร์ล” เขยฝรั่งชาวอังกฤษที่มาถูกกล่าวหาว่าเป็นฆาตกรสังหารหมู่ในหมู่บ้านดอนกระโทก หมู่บ้านเล็กๆ ทางแถบภาคอีสาน มีเพียง “ทราย” ภรรยาของเขาเพียงคนเดียวที่เชื่อในความบริสุทธิ์ของเขา แต่เธอก็ดูเหมือนซ่อนความลับที่อาจทำลายชีวิตคู่เช่นกัน และในฐานะนายตำรวจระดับสารวัตรภูธร “ณวัฒน์” ทำหน้าที่สอบปากคำพวกผู้รอดชีวิตที่เหลือ เพื่อสืบหาความจริงของการฆาตกรรมที่ดูเหมือนจะนอกเหนือความคาดหมายของเขา

ภาพยนตร์เรื่องนี้กำกับโดย วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง ผู้สร้างภาพยนตร์ชาวไทยที่เป็นที่รู้จักจากภาพยนตร์ที่มีสีสันในเรื่องของงานภาพและมีสไตล์ที่ค่อนข้างมีเอกลักษณ์ของตัวเองอย่างสูง แต่มาเรื่องนี้จึงเป็นการผสมผสานงานที่ผ่านๆ มาของเขา แต่เพิ่มความทะเยอทะยานในการดำเนินเรื่องแบบสืบสวนสอบสวนที่ค่อยๆ เปิดเผยความจริงออกมาทีละนิดในรูปแบบตลกร้าย แต่เท่านั้นยังไม่พอยังใช้ภาษาอีสานในการดำเนินเรื่องเกือบทั้งหมด ซึ่งตัวละครส่วนใหญ่เลยสนทนากันด้วยภาษาอีสานเพื่อเพิ่มความสมจริงให้เข้ากับท้องถิ่นในเรื่อง จึงรวบรวมนักแสดงที่มีความเป็นอีสานไว้มากมาย อาทิ เพ็ชรทาย วงษ์คำเหลา หรือ หม่ำ จ๊กม๊ก ในบทสารวัตรณวัฒน์, อุ้ม-อิษยา ฮอสุวรรณ ในบททรายเมียของเอิร์ล, คำเกิ้ง-สมพงษ์ ชอบธรรม ในบท บุญลักษณ์ พ่อของทรายและไก่, เอี้ยง-สวนีย์ อุทุมมา ในบท จันทร์ แม่ของทรายและไก่, สุนารี ราชสีมา ในบท ป้าภา, เดี่ยว-โชติพิพัฒน์ สุทธิจันทร์ ในบท ไก่, พีท-สุทิน โคตะถา ในบท เพชร เพื่อนของไก่และผัวเก่าของทราย, โจนาธาน แซมซัน (จอนนี่ นานาชาติ) ในบท ชาลี เขยฝรั่งอเมริกันอีกคนในหมู่บ้านที่พูดภาษาอีสานได้คล่องแคล่ว, ออย-ขวัญเรือน โลหากาศ ในบท ตุ๊กตา เมียของชาลีและเมียเก่าของไก่รวมถึงเป็นแม่ของจูน, และ แตงกวา-ชนันทิชา ชัยภา ในบท (อีหล่า)จูน ส่วน เจมส์ เลเวอร์ ในบท เอิร์ล น่าจะเป็นตัวหลักตัวเดียวที่ไม่ได้พูดสำเนียงอีสาน

ต่อไปนี้อาจพบสปอยล์ในเรื่องเมอร์เด้อเหรอนะครับ

การผสมผสานที่ดูชาญฉลาดออกมาได้สนุกสนานและดูไม่เคอะเขิลในความเป็นอีสานอินเตอร์เลย เหมือนเป็นการนำร้านอาหารอีสานไปเปิดขายในห้างหรูยังไงยังงั้นล่ะครับ แหวกแนวการเล่าเรื่องแบบหนังไทยแมสๆ จังหวะโบ๊ะบ๊ะที่เอาไว้ตัดลงขำๆ กันในติ๊กต่อกนั้นไม่สามารถพบเห็นได้ในหนังเรื่องนี้ ซึ่งก็มีความสุ่มเสี่ยงในการจับตลาดส่วนใหญ่ในเมืองไทยเหมือนกัน แต่นั่นคิดว่าไม่ได้มีปัญหาแต่อย่างใด เพราะการผสมผสานองค์ประกอบที่สำคัญในเรื่องอย่าง ตลกขบขัน อาชญากรรม ความลึกลับ และความระทึกขวัญร้อยเรียงเข้าไว้ด้วยกันได้อย่างดี เนื้อเรื่องที่ทำออกมาให้ต้องคาดเดาตลอดเวลาก็กลั่นออกมาได้อย่างดี และใส่อารมณ์ขันและเสียดสีแบบเย้ยหยันมีอคติของสังคมไทยโดยเฉพาะต่อชาวต่างชาติและชาวอีสานออกมาได้อย่างสมจริง และใส่ฉากด้านมืดและรุนแรงของมนุษย์ ที่ให้ความรู้สึกที่ตัดกับสีสันและโทนของภาพยนตร์กันเลยทีเดียว

ทัศนคติของสังคมชนบทในอีสานและเขยฝรั่ง

มือเขียนบทของเรื่องโดยอภิเษก จิรธเนศวงศ์ (Abishek J. Bajaj) นอกจากเรื่องฆาตกรรมแล้วก็ยังนำเรื่องทัศนคติเรื่องต่างๆ ในภาคอีสานมาใส่ได้อย่างแยบยลและสมจริง สะท้อนให้เห็นว่าบางครั้งคนเมืองหรือคนต่างชาติอาจเหมารวมไปว่าคนชนบทนั้นใสซื่อบริสุทธิ์ แต่จริงๆ แล้วก็อาจไม่ใช่ทั้งหมด ด้วยปัจจัยหลายๆ อย่างในสังคมไทยรวมถึงเรื่องโครงสร้างและการด้อยพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจอย่างทั่วถึงนั้น การรวยทางลัดของสังคมชนบทโดยเฉพาะทางภาคอีสานนั้นจึงไม่พ้นการแต่งงานกับฝรั่งเพื่อความมั่งคั่งทางด้านการเงินของครอบครัว เพราะว่าสังคมไทยนั้นไม่ได้มีประกันสังคมที่เลี้ยงตัวเองกันได้เหมือนประเทศโลกที่หนึ่ง ลูกๆ ยังต้องทำงานส่งเสียให้ทางบ้านพ่อแม่อีกด้วย ดังนั้นนอกจากเรื่องทางกายภาพและมารยาทที่ส่วนใหญ่ดูดีกว่าผู้ชายห่วยๆ ในเมืองไทยแล้ว การแต่งงานกับฝรั่งนั้นหากสำเร็จจึงเป็นทางที่ยกระดับได้ไม่ยากเย็น

ดังนั้นอย่างที่ ชาลี พูดกับ เอิร์ล นั้นว่าเมียไทยมองผัวฝรั่งไม่ต่างจากสวัสดิการสังคม (Social Security) คือ ยอมทำให้ได้ทุกอย่างดูแลดีแต่ต้องมีเงินให้ใช้ด้วยนั่นเอง

พอมาเป็นตัวเอิร์ลและทราย ที่เหมือนพ่อตาและแม่ยายดูไม่ค่อยปลื้มลูกเขยคนนี้เท่าไหร่ แม้หนังจะไม่ได้เล่าพื้นหลังละเอียดก็ตามแต่ก็สามารถเดาได้ว่าลูกเขยคนนี้เป็นฝรั่งแบบ Expat ที่มาทำงานในประเทศไทย รายได้อาจไม่ได้สูงและร่ำรวยมากอย่างที่ครอบครัวฝ่ายหญิงคาดหวัง นั่นจึงเราเห็นทางบ้านดูไม่ปลื้มเขยคนนี้ที่แม้ว่าดูๆ แล้วจะหวังดีและเอาใจใส่ลูกสาวและครอบครัวดีกว่าเพชรสามีเก่าของทรายอย่างเทียบไม่ติดก็ตาม

รวมถึงสังคมที่บีบคั้น การเลี้ยงลูกที่ไม่รู้จักโตของพ่อแม่ ที่ไก่ลูกชายคนโตแม้มีลูกสาวแล้วก็ยังไม่พ้นที่เอาภาระมาตกให้แก่พ่อและแม่มาเลี้ยงดูหลานต่ออีกที ด้วยการมองหลานอย่างเป็นภาระนั้นจึงไม่แปลกใจที่หลานจะรู้สึกขาดความอบอุ่นจากครอบครัว ที่คนภายนอกวาดภาพทัศนคติสังคมในชนบทต้องอยู่กันอย่างอบอุ่นนั้นต้องอาจคิดอีกมุมดูเสียใหม่

เท่านั้นยังไม่พอยังใส่ความดาร์คและสัปดนของคนอีสานออกมาให้เห็นอีกมุมมองนึง อย่างเช่น ป้าภานั้นพูดเรื่องใต้สะดือออกมาได้อย่างไม่อายปาก, ความคิดภายในใจของพ่อตาที่มองลูกเขยอย่างไร้การศึกษาและจิตใจ, ไก่และเพชร คนไม่เอาไหนแต่ภายในใจนั้นมีแต่ความละโมบ, นายตำรวจภูธรที่ดูไร้เดียงสา เป็นต้น 

เมื่อรวมๆ ทัศนะคติหลายๆ อย่างในด้านมืดของคนชนบทอีสานแล้ว เมื่อถูกกระตุ้นด้วยสารเสพย์ติดนั้น จึงปล่อยพลังด้านมืดของมนุษย์ออกมาอย่างไม่รู้ตัว จึงเป็นที่มาของความฉิบหายในเรื่องที่เกิดขึ้นทั้งหมด

ความดาร์คที่ตัดกับความสดใสของงานภาพ

อย่างที่รู้กันว่างานของ วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง ในเรื่องก่อนๆ เช่น ฟ้าทะลายโจร(2000), หมานคร(2004) หรือ เปนชู้กับผี(2006) นั้นจะมีงานภาพที่เป็นลายเซ็นที่ชัดเจน โดยเฉพาะเรื่องการใช้สีสรรที่สดใสเกินจริงในภาพยนตร์ รวมถึงใส่ฉากที่ดูเป็นแฟนตาซีด้วยงานอาร์ทผสมผสามแบบย้อนยุคที่ออกมาแล้วดูดีมากๆ คนนึงในวงการของไทย ซึ่งเรื่องนี้ก็ยังนำมาใส่ในหลายๆ ฉากอย่างชัดเจน ช่วยสร้างสรรค์เพื่อสร้างสุนทรียภาพเหมือนหนังสือการ์ตูนที่ช่วยเพิ่มความน่าดึงดูดใจของภาพยนตร์ อย่างเช่นในฉากเล่าย้อนถึงอดีตของสารวัตร ที่นำลูกชายของหม่ำมาเล่นได้อย่างชาญฉลาดจริงๆ หรือใส่สัญญะทางการเมืองของผู้กำกับลงไปในงานภาพได้ออกมาที่ผมเองถึงกับหัวเราะลั่นเลย ในฉากที่สารวัตรใส่เสื้อ “ควายเหลือง” นอกจากเรื่องความสดใสของงานภาพแล้ว การวางคอมโพสจัดวางก็ยังออกมาได้แบบพิถีพิถันเลยทีเดียว และดนตรีประกอบนั้นก็ใส่ความเป็นอีสานได้มาอย่างลงตัว

จุดอ่อนของภาพยนตร์

จุดอ่อนของภาพยนตร์เรื่องนี้อยู่ที่ การลำดับเรื่องและความสมจริงบางอย่าง มีข้อบกพร่องและไม่สอดคล้องกัน ซึ่งส่งผลต่อความน่าเชื่อถือในเรื่องความเป็นจริง เช่น การสอบสวน การหาพยาน หรือ การลงพื้นที่ของตำรวจ แต่อันหล้งนี้ก็พอเข้าใจเป็นนัยว่า แสดงความขี้เกียจและหละหลวมของตำรวจไทย การลำดับเรื่องบางครั้งขาดความต่อเนื่องในการให้เหตุผลและอารมณ์ของความอยากรู้ การลำดับคลายทีละปมทีละขั้นนั้นก็ส่งผลให้จังหวะและความยาวของหนังนั้นนานออกไปโดยไม่จำเป็น

และแอบเสียดายการเล่าเรื่องแบบข่าวผสมกราฟฟิคแบบอัมรินทร์หรือไทยรัฐนั้นถูกตัดออกไป มีให้เห็นแค่ในตัวอย่างเท่านั้น

เฉลยปมของเรื่อง

เมื่อถึงจุดเฉลยของเรื่องทั้งหมด ก็ยอมรับว่าทำออกมาได้ฉลาดดีมาก ทำให้เหมือนคนดูจะคาดเดาได้แต่สุดท้ายก็รู้สึกแบบไม่คาดคิดและสมเหตุผลปิดรอยโหว่ของเหตุการณ์ได้ดี เรื่องทั้งหมดที่เกิดขึ้นเพียงเพราะอีหล่าจูน ที่เริ่มรู้สึกตัวเองถูกทอดทิ้งจากครอบครัว จึงอยากแกล้งด้วยการใส่เห็ดขี้ควายลงไปในอาหารเย็นและแอบถ่ายคลิปความตลกของคนไว้แค่นั้นเอง แต่หารู้ไม่ว่ามันเลยเถิดด้วยอำนาจจิตใจของมนุษย์ด้วยกันเอง เท่านั้นยังไม่พอหนังยังเฉลยออกมาได้ว่า แม้แต่สารวัตรนั้นยังเสียเหลี่ยมเด็กประถมได้ เราจึงได้รู้ว่าจูนนั้นไม่ธรรมดาหลังจากสารวัตรณวัตน์แกะห่อลูกอมอันสุดท้ายที่มีเพียงแต่ความว่างเปล่านั่นเอง

สรุป

โดยรวมแล้ว เมอร์เด้อเหรอ ฆาตกรรมอิหยังวะ (The Murderer) เป็นภาพยนตร์ที่ทำออกมาได้สนุกสนานและสร้างความเป็นต้นฉบับที่นำเสนอมุมมองที่สดใหม่ให้กับวงการภาพยนตร์ไทยได้อย่างดี แสดงให้เห็นถึงความสามารถและวิสัยทัศน์ของผู้กำกับวิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง ในฐานะผู้สร้างภาพยนตร์ที่สามารถสร้างประสบการณ์การชมภาพยนตร์ที่ไม่เหมือนใครและน่าจดจำ ภาพยนตร์เรื่องนี้ยังนำเสนอการแสดงที่ดูธรรมชาติจากทีมนักแสดงที่ทำให้ตัวละครดูมีชีวิตชีวา ด้วยพื้นหลังของฉากที่มีความเหนือจริงจนรู้สึกแตกต่างจากภาพยนตร์ทั่วๆ ไป แม้จะมีจุดด้อยในเรื่องของการดำเนินเรื่องและความคาดหวังที่มันจะออกมาตลกกว่านี้ก็ตาม แต่ภาพยนตร์เรื่องนี้ก็ควรค่าแก่การรับชม เพราะเปี่ยมไปด้วยคุณค่าด้านความบันเทิงและความเรียนรู้เรื่องความต่างทางวัฒนธรรมไทยออกมาได้ดี

แสดงความคิดเห็น : Kitchen Rai

Your email address will not be published. Required fields are marked *