Skip to content

[รีวิว] Fight Club : ไฟท์คลับ ดิบ ดวล ดิบ – พร้อมความคิดเห็นในตอนจบ (1999)

เวลาที่ใช้อ่าน : 2 นาที

เห็น Fight Club ภาพยนตร์จากปี 1999 ของเดวิด ฟินเชอร์ ขึ้นมาว่าจะออกจากเน็ตฟลิกซ์ในวันที่ 14 ก.ย. 2024 ก็เลยเปิดดูอีกรอบ หลังจากเคยดูครั้งแรกๆ ช่วงต้นๆ ปี 2000 และหลังจากนั้นก็ช่วง 2010s สักครั้ง แต่พอในวัยที่โตขึ้น กลับได้รับมุมมองที่เข้าใจได้มากยิ่งขึ้นกว่าเดิม

Fight Club ที่มีชื่อไทยว่า “ไฟท์คลับ ดิบ ดวล ดิบ” ถือเป็นผลงานที่สร้างความประทับใจและทรงอิทธิพลอย่างมากในวงการหนังยุคใหม่(ในขณะนั้น) ที่สร้างจากนิยายของชัค พาลาห์นิอุค(Chuck Palahniuk) โดยนำเสนอมุมมองลึกๆ เกี่ยวกับจิตใจของชายที่รู้สึกผิดหวังในชีวิต พร้อมทั้งวิพากษ์วิจารณ์ผลเสียของสังคมบริโภคนิยม

เนื้อเรื่องที่ซับซ้อนและลึกซึ้งทั้งในแง่จิตวิทยาและการวิจารณ์สังคม ยังคงจุดประเด็นถกเถียงเกี่ยวกับตัวตนของมนุษย์ ความเป็นชาย และการท้าทายบรรทัดฐานทางสังคม เรียกได้ว่าเป็นหนังที่ทำให้คนดูต้องขบคิดและตั้งคำถามกับโลกรอบตัวอย่างจริงจัง

มุมมองของหนังที่พยายามจะสื่อ​ (สปอยล์)

วัตถุนิยมล่มสลาย: Fight Club เปิดโปงความว่างเปล่าของสังคมบริโภคนิยม

เนื้อเรื่องจะวิพากษ์วิจารณ์สังคมบริโภคนิยมและวัตถุนิยมอย่างเผ็ดร้อน ผ่านชีวิตของตัวเอกที่หมกมุ่นอยู่กับงานประจำและการซื้อของแบรนด์เนมเพื่อสร้างตัวตน ภาพยนตร์ชี้ให้เห็นว่าในโลกที่คนเราวัดคุณค่าของตัวเองจากสิ่งของที่ครอบครองนั้น ผู้คนกลับยิ่งห่างไกลจากตัวตนที่แท้จริงออกไปเรื่อยๆ และสูญเสียอิสรภาพไปในที่สุด

ไทเลอร์ เดอร์เดน” พูดประโยคเด็ดไว้ว่า “สิ่งของที่คุณมีจะครอบครองคุณเองในที่สุด” (The things you own end up owning you) สะท้อนแนวคิดว่าการหลงใหลในวัตถุจะทำให้คนเราสูญเสียความเป็นตัวของตัวเองและอิสรภาพไปในที่สุด หนังเรื่องนี้ทำให้เราต้องกลับมาตั้งคำถามกับค่านิยมในสังคมปัจจุบันที่ให้ความสำคัญกับการบริโภคและวัตถุมากเกินไป

วิกฤตความเป็นชาย: เมื่ออารมณ์ดิบเถื่อนในตัวตื่นขึ้น

Fight Club ไม่ได้แค่วิพากษ์สังคมบริโภคนิยม แต่ยังสะท้อนวิกฤตความเป็นชายในยุคปัจจุบันอย่างชัดเจน ตัวเอกรู้สึกว่าตัวเองอ่อนแอ จมอยู่กับชีวิตจำเจภายใต้กฎเกณฑ์ในสังคม เขาจึงหันไปพึ่งชมรมมวยใต้ดินเพื่อปลุก “ความเป็นชาย” ที่ซ่อนอยู่จิตใต้สำนึก

ในชมรม การใช้กำปั้นและมิตรภาพกลายเป็นทางออกให้ผู้ชายได้ปลดปล่อยอารมณ์ห่ามๆ ที่ถูกเก็บกด และเชื่อมโยงกับตัวตนดั้งเดิมของความเป็นชาย แต่การค้นหาความเป็นชายแบบนี้เป็นเหมือนดาบสองคม ทั้งสร้างพลังและทำลายล้าง

ท้ายที่สุด การกระทำอันสุดโต่งนี้พาให้ไปพบกับตัวตนที่แท้จริง ทำให้เราต้องตั้งคำถามกลับว่า แท้จริงแล้วความเป็นชายในยุคนี้ควรเป็นอย่างไร และเราควรแสดงออกถึงมันอย่างไรจึงจะเหมาะสม

หายนะของการหลบเลี่ยงความเป็นจริงและคตินิยมสุดขีด

หนังเรื่องนี้ยังเตือนสติเราถึงอันตรายของการหนีความจริงและความงมงายกับแนวคิดอันสุดโต่ง แม้ตอนแรกชมรมจะทำให้เหล่าสมาชิกรู้สึกเป็นอิสระ แต่ไม่นานก็แปรเปลี่ยนเป็นกลุ่มอนาธิปไตยที่สร้างความวุ่นวายและมุ่งแต่จะทำลายล้าง

ปรัชญาสุดขั้วของไทเลอร์ที่ปฏิเสธกฎสังคมและครอบงำลัทธิการทำลายล้าง ดูเหมือนจะเป็นทางออกที่น่าสนใจในตอนแรก แต่สุดท้ายก็กลับนำไปสู่หายนะ หนังเรื่องนี้ชี้ให้เห็นว่าในการค้นหาความหมายของชีวิต ของคนเราอาจถูกดึงดูดเข้าสู่พฤติกรรมอันสุดโต่งที่เป็นภัยทั้งต่อตัวเองและสังคม แทนที่จะปรับเปลี่ยนทัศนะคติไปในทางสร้างสรรค์

สงครามในตัวตน: เมื่อปีศาจภายในจิตใจถูกปลดปล่อย

ความสัมพันธ์ระหว่างตัวเอก(ผู้เล่าเรื่อง)กับไทเลอร์ เดอร์เดน สะท้อนให้เห็นสองด้านในตัวมนุษย์ – ด้านที่อยากเชื่อฟังสังคม กับด้านที่อยากกบฏ ไทเลอร์เปรียบเสมือนด้านมืดที่ซ่อนอยู่ในตัวเอก(ผู้เล่าเรื่อง) ผลักดันให้เขาปฏิเสธกฎเกณฑ์สังคม และหันไปใช้ชีวิตแบบดิบๆ ตามสัญชาตญาณห่ามๆ ของมนุษย์

ความขัดแย้งนี้แสดงให้เห็นการต่อสู้ภายในจิตใจที่คนส่วนใหญ่ต้องเผชิญ ระหว่างภาพลักษณ์ที่แสดงออกต่อสังคม กับความต้องการที่แท้จริงของตัวเอง ซึ่งหนังเตือนว่าการกดทับหรือปฏิเสธธรรมชาติที่แท้จริงของตัวเอง อาจนำไปสู่ปัญหาทางจิตใจและการทำร้ายตัวเองในที่สุด

ภาพลวงแห่งอิสรภาพ: เมื่อการควบคุมกลายเป็นการสูญเสียตัวตน

นอกจากนี้หนังยังนำพาเราให้เห็นถึงมายาคติในเรื่องการควบคุมชีวิตและเสรีภาพในโลกยุคใหม่ ตัวเอก(ผู้เล่าเรื่อง)เชื่อว่าการตั้งชมรมมวยใต้ดินจะทำให้เขาควบคุมชะตาชีวิตของตัวเองได้ แต่เมื่อเรื่องราวดำเนินไปถึงจุดนึง เราก็จะเห็นชัดว่าเขากำลังสูญเสียการควบคุมทั้งการกระทำและตัวตนน้อยลงไปเรื่อยๆ

และจุดพลิกผันที่เปิดเผยว่าไทเลอร์คือส่วนหนึ่งในจิตใจของตัวเองนั้น ยิ่งตอกย้ำว่าการพยายามควบคุมทุกอย่าง แท้จริงคือการยอมจำนนต่อความต้องการในจิตใต้สำนึกโดยไม่รู้ตัว

บทเรียนสุดท้าย: เมื่อการปฏิวัติไร้ทิศทาง

และทิ้งท้ายด้วยบทเรียนสำคัญเกี่ยวกับผลลัพธ์ของการปฏิเสธกฎเกณฑ์สังคมโดยไม่มีทางออกที่สร้างสรรค์ แม้ภาพสังคมอนาธิปไตยในหนังจะดูน่าดึงดูดใจ เพราะวิจารณ์ชีวิตสมัยใหม์ได้อย่างเจ็บแสบ แต่สุดท้ายมันก็นำไปสู่ความวุ่นวาย ความรุนแรง และการทำร้ายตัวเอง แม้การตั้งคำถามและท้าทายระบบสังคมจะเป็นสิ่งจำเป็น แต่ถ้าทำไปโดยไม่มีเป้าหมายที่ชัดเจนและสร้างสรรค์ ก็อาจเกิดผลเสียร้ายแรงกลับมาได้เช่นกัน

ตอนจบของ Fight Club บอกอะไร?

ตอนจบของ Fight Club เป็นฉากที่ทั้งทรงพลังและชวนให้ตีความไปได้หลายทาง ตัวเอก(เอ็ดเวิร์ด นอร์ตัน)ตระหนักได้ว่าไทเลอร์คือภาพลวงในหัวเขาเอง จึงต้องยิงตัวเองเพื่อกำจัดไทเลอร์ แม้จะรอดตายจากคมกระสุนมาได้ แต่เมืองรอบตัวเค้ากำลังพังทลาย สื่อถึงการทำลายระบบเก่าที่กดขี่ แต่ก็เตือนถึงอันตรายของการกบฏรุนแรงที่ไร้การควบคุม ในฉากสุดท้ายที่เอ็ดเวิร์ด นอร์ตันจับมือมาร์ลาท่ามกลางฉากระเบิดตึกพร้อมกับเพลง “Where Is My Mind” จาก Pixies  อาจหมายถึงโอกาสเริ่มต้นใหม่ในโลกที่ไม่ถูกครอบงำด้วยบริโภคนิยมหรืออุดมการณ์สุดโต่ง เปิดทางให้ค้นหาตัวตนที่แท้จริงและสร้างอนาคตที่สมดุลกว่าเดิม


แสดงความคิดเห็น : Kitchen Rai

Your email address will not be published. Required fields are marked *