ภาพยนตร์เรื่อง “Mrs. Harris Goes to Paris” ชื่อไทย “มิสซิสแฮร์ริสไปปารีส” นำเสนอเรื่องราวที่อบอุ่นและชวนให้หวนคิดถึงอดีต ตั้งแต่ฉากแรกจนจบ จะถูกดึงดูดเข้าสู่การผจญภัยที่น่าประทับใจของนางแฮร์ริส โดยเมื่อจบเรื่องแล้ว แทบเป็นไปไม่ได้ที่จะไม่รู้สึกซาบซึ้ง แม้จะมีบางฉากที่ดูเกินจริงและบางเหตุการณ์ที่ท้าทายความเป็นไปได้ในโลกแห่งความเป็นจริง แต่ด้วยบรรยากาศโดยรวมที่สร้างความรู้สึกดี ทำให้ผู้ชมสามารถมองข้ามจุดบกพร่องเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้ได้โดยง่าย
และภาพยนตร์เรื่องนี้ยังส่งมอบข้อคิดที่ทรงพลังเกี่ยวกับการไขว่คว้าความฝัน ความยืดหยุ่นในการเผชิญอุปสรรค และความงดงามของความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ ทำให้ผู้ชมได้รับทั้งความบันเทิงและแง่คิดอันลึกซึ้งในการแสดงความมีน้ำใจต่อกันในโลกนี้
จุดพลิกผันจากชีวิตอันแสนธรรมดา
ภาพยนตร์จะพาเราย้อนกลับไปสู่ลอนดอนในยุค 1950s เล่าเรื่องราวของนางเอด้า แฮร์ริส (รับบทโดยเลสลีย์ แมนวิลล์) เธอเป็นแม่บ้านรับจ้างทำความสะอาดที่มีชีวิตแสนเรียบง่าย แต่แฝงไว้ด้วยความโศกเศร้าจากการสูญเสียสามีในสงครามและข้อจำกัดทางการเงินของเธอ วันหนึ่งขณะทำงานในบ้านของลูกค้าที่ร่ำรวย เธอได้พบกับชุดเดรสจาก Christian Dior ซึ่งจุดประกายความฝันและความหวังใหม่ในชีวิตของเธอ
ชุดเดรสหรูหราใบนั้นไม่เพียงแต่เป็นเสื้อผ้าที่งดงามเท่านั้น แต่ยังกลายเป็นสัญลักษณ์แห่งความปรารถนาของนางแฮร์ริสที่จะมีบางสิ่งพิเศษในชีวิตสักครั้ง มันเป็นจุดเริ่มต้นของการเดินทางที่จะเปลี่ยนแปลงชีวิตของเธอไปตลอดกาล
ปารีส: เมืองแห่งแฟชั่นและเทพนิยาย
ด้วยจิตวิญญาณที่แน่วแน่และสถานการณ์ที่มีโชคดีติดตัวอยู่บ้าง นางแฮร์ริสประหยัดเงินได้มากพอที่จะเดินทางไปปารีสและซื้อชุดเดรสของ Christian Dior ในฝันของเธอ การมาถึงปารีสของเธอทำให้เกิดเหตุการณ์ที่ไม่น่าเป็นไปได้มากมาย โดยผสมผสานช่วงเวลาที่ราวแบบเรื่องเพ้อฝันเหมือนนิยายเข้ากับความขมขื่นในโลกแห่งความเป็นจริง ตั้งแต่การผูกมิตรกับนักบัญชีขี้อาย อังเดร (ลูคัส บราโว) ไปจนถึงการได้รับความช่วยเหลือจากนางแบบสาวสวย นาตาชา (อัลบา บัพติสต้า) เสน่ห์อันจริงใจของนางแฮร์ริสได้ทำลายอุปสรรคและอีโก้ในโลกของชนชั้นสูงลงมาได้อย่างราบคาบ
ช่วงเวลาอันมหัศจรรย์ของ Christian Dior และอิทธิพลของนางแฮร์ริส
ภาพยนตร์เรื่องนี้รวบรวมเสน่ห์ของปารีสในยุค 1950s ด้วยภาพอันน่าทึ่ง อวดโฉมแฟชั่นเฮาส์อันเป็นเอกลักษณ์ของ Christian Dior ด้วยความสง่างามอันหรูหรา ฉากที่นางแฮร์ริสก้าวเข้าสู่ห้องทำงานของมองซิเออร์ดิออร์เป็นครั้งแรก ถือเป็นฉากที่มหัศจรรย์ที่สุดในภาพยนตร์เรื่องนี้ การเฝ้าดูนางแฮร์ริสสำรวจโลกแห่งแฟชั่นชั้นสูงนั้นทั้งอบอุ่นใจพอๆ กับการมีอารมณ์ขัน เธอเป็นศูนย์รวมของความเมตตาและความมุ่งมั่นในโลกที่ดูเหมือนเธอไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของโลกนั้นเสียด้วยซ้ำ
นิยายหรือความจริง? ความอบอุ่นใจที่ท้าทายเหตุผลในภาพยนตร์
แน่นอนว่าภาพยนตร์เรื่องนี้มีความรู้สึกเกินจริงไปบ้าง การที่นางแฮร์ริสได้รับความสนใจจากบุคคลที่มีอิทธิพลของปารีสอย่างรวดเร็วจนอาจรู้สึกเหมือนอยู่ในเทพนิยาย อย่างไรก็ตาม มันเป็นธรรมชาติของเรื่องราวนี้ ผู้หญิงธรรมดาที่ไล่ตามความฝันที่เหมือนไม่กล้าฝันและเอาชนะใจทุกคนด้วยความจริงใจและใจดีของเธอ ที่ทำให้เรามองข้ามความไม่สมเหตุสมผลบางจุดในเรื่องนี้ได้
การที่นางแฮร์ริสปรากฏตัวในปารีสส่งผลกระทบเป็นวงกว้างต่อผู้คนรอบๆ ข้าง เธอช่วยให้นาตาชาตระหนักถึงความสำคัญของการทำตามความฝันของตัวเองแทนที่จะยอมทำตามความคาดหวังของสังคม และสนับสนุนให้อังเดรก้าวข้ามกรอบความคิดของตัวเอง แม้แต่มาดามโคลแบร์ (อิซาเบล อูแปร์) ซึ่งเคยเป็นคนหยิ่งยโสและดูถูกนางแฮร์ริสในตอนแรก ก็ยอมอ่อนลงในตอนท้ายเพราะด้วยความจริงใจของนางแฮร์ริสเอง การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ทำให้ภาพยนตร์เรื่องนี้มีคุณภาพราวกับนิทานเรื่องเล่าเพ้อฝันชวนอบอุ่นหัวใจ ไม่ใช่แค่ตัวละครรอบๆ ข้างตัวนางแฮร์ริสเองเท่านั้น แต่สามารถกระจายถึงผู้ชมได้อีกด้วย
ความเข้มแข็งท่ามกลางอุปสรรค
ในภาพยนตร์ก็มีช่วงเวลาแห่งอุปสรรคเช่นกัน ที่เมื่อดูเหมือนว่าการทำงานหนักทั้งหมดของเธอจะสูญเปล่า แต่นางแฮร์ริสเองไม่ยอมแพ้ง่ายๆ ความอดทนของเธอเมื่อเผชิญกับความยากลำบาก จนเธอได้รับโอกาสที่จะซื้อชุดราตรีของ Christian Dior ไม่ใช่เพราะแค่มีเงินก็ซื้อได้อย่างเดียว แต่เป็นเพราะความจิตใจดี ความรักในชีวิตที่จะกล้าฝันต่างหาก แม้ในบางครั้งการที่เธอมีจิตใจดีจนเกินไปมันย้อนกลับมาทำร้ายเธอบ้างก็ได้ตามที ที่ในบทสรุปในตอนท้ายเธอได้รับรางวัลที่คู่ควรอันล้ำค่าจาก Christian Dior และเหล่ามิตรสหายจากปารีส
บทสรุปแห่งความสุข: ค้นพบความสุขด้วยการตามความฝัน
สุดท้าย “Mrs. Harris Goes to Paris” ก็รู้สึกเหมือนได้รับอ้อมกอดอันแสนอบอุ่น มันอาจจะขาดความสอดคล้องเชิงตรรกะอยู่บ้าง แต่หัวใจของเรื่องมันอยู่ในตำแหน่งที่ถูกต้องเสมอ การเดินทางของนางแฮร์ริสเตือนเราว่า ความฝันไม่ว่าความฝันจะดูลึกซึ้งแค่ไหน แต่ก็คุ้มค่าที่จะไล่ตามเสมอ และบางครั้ง การไล่ตามความฝันนั้นทำให้เรามีความสุขที่สุด ไม่ใช่แค่นั่งฝันอยู่เฉยๆ โดยไม่ได้ลงแรงทำตามมัน
เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยจาก IMDB
- คอสตูมดีไซน์เนอร์ของเรื่อง “เจนนี่ บีแวน” ใช้บันทึกของดิออร์ ซึ่งมีสมุดร่าง สมุดงาน และแพทเทิร์นต้นฉบับของดีไซเนอร์ เพื่อสร้างชุดดิออร์ในภาพยนตร์ขึ้นใหม่ บางชุดของเก่ายืมมาจากบ้านดิออร์ บางชุดเป็นของจำลอง และบางชุดเป็นการออกแบบใหม่ตามแบบฉบับของดิออร์
- ชุด New Look ปี 1947 ของ Christian Dior เป็นชุดแรกที่โชว์ในอาตูลิเย ด้วยดีไซน์ที่ปฏิวัติวงการ ชุดนี้สร้างประวัติศาสตร์แฟชั่นหลังยุคขาดแคลนผ้าช่วงสงคราม และทำให้ดิออร์กลายเป็นชื่อที่คุ้นหูในวงกว้าง
- คริสเตียน ดิออร์เสียชีวิตจากอาการหัวใจวายเมื่อ 24 ตุลาคม 1957 ซึ่งเป็นปีเดียวกับที่ภาพยนตร์เรื่องนี้เซ็ตช่วงเวลาไว้ แม้เขาจะมีอายุเพียง 52 ปี แต่เขาดูแก่กว่าวัยมาก แบบที่ตัวละครที่ปรากฏในภาพยนตร์นั่นเลย
- ตอนจบของภาพยนตร์มีความซับซ้อนมากกว่าต้นฉบับในนวนิยายที่เขียนโดย Paul Gallico นักแสดงสาวคนหนึ่งเผลอจุดไฟเผาชุดของ Dior แต่นางแฮร์ริสไม่เคยได้รับชุดใหม่จาก Dior ซึ่งรวมถึงเหล่ามิตรสหายจากปารีสที่ส่งดอกไม้มาให้เธอ และในตอนท้ายของนวนิยายนางแฮร์ริสตัดสินใจทิ้งชุดนั้นไว้โดยไม่ได้ซ่อมแซมมัน เพราะเธอเข้าใจว่ารางวัลของการเดินทางครั้งนี้คือผู้คนมากกว่าชุดเดรสสวยๆ
- อีกจุดนึงที่แตกต่างจากนวนิยายต้นฉบับ ซึ่งในหนังนางแฮร์ริสได้เงินจากการแทงบอล และเก็บเงินจนสามารถหาเงินไปเที่ยวปารีสและซื้อชุดเดรสจากเงินบำนาญของสามีผู้ล่วงลับ แต่ในนวนิยาย เธอเก็บเงินสดถึงสามปี ซึ่งเดิมทีเธอแทงบอลได้เงินมา 102 ปอนด์ และได้อีก 25 ปอนด์เป็นรางวัลสำหรับเข็มกลัดที่เธอพบ แต่ก็ต้องสูญเงิน 50 ปอนด์จากการแทงพนัน เลยเลือกเก็บเงินที่เหลือไว้ซื้อเสื้อผ้า ความบันเทิง บุหรี่ และจิน รวมถึงจำกัดอาหารเป็นเวลาสามปี แต่ถ้าเอาเป๊ะเลยคือ 2ปี 7เดือน 3สัปดาห์ กับอีก 1 วัน
อยากจะเขียนอะไรก็เขียนอ่ะครับ แต่ถ้าเขียนผิดหรือตกหล่นไปก็ขออภัยล่วงหน้านะครับ