Skip to content

[รีวิว] อย่ากลับบ้าน : Don’t Come Home (2024) – ซีรีส์ไทยที่กล้าท้าทายขนบเดิมๆ พร้อมเฉลยเนื้อเรื่อง

เวลาที่ใช้อ่าน : 3 นาที

การที่ได้ดูซีรีส์เรื่องนี้จนจบทั้ง 6 ตอนโดยไม่เคยเห็นตัวอย่างหรือสปอยล์ใดๆ มาก่อน ทำให้ผมต้องยอมรับว่านี่คือซีรีส์ไทยที่กล้าและแหวกแนวมาก แม้จะเป็นโครงเรื่องที่อาจคุ้นตาจากผลงานต่างประเทศ แต่การนำมาตีความใหม่ในบริบทไทยๆ กลับสร้างความสดใหม่ได้อย่างน่าทึ่ง

สิ่งที่ทำให้ผมประทับใจคือการพลิกผันของเรื่องราว จากที่เริ่มต้นด้วยโทนหนังผีไทยในบ้านสยองขวัญแบบที่คุ้นเคย แต่กลับค่อยๆ เผยให้เห็นมิติของวิทยาศาสตร์และไซไฟที่ซับซ้อน จนอาจทำให้คนดูที่คาดหวังจะได้ดูหนังผีแบบเดิมๆ ต้องเหวอไปตามๆ กัน นับเป็นความกล้าหาญของผู้สร้างที่พาผู้ชมออกจาก Comfort Zone ในการรับชมซีรีส์ไทย

นี่คือตัวอย่างที่ดีของการผสมผสานระหว่างความคุ้นเคยของหนังผีไทยกับความแปลกใหม่ของไซไฟ ที่พิสูจน์ให้เห็นว่าซีรีส์ไทยก็สามารถก้าวข้ามกรอบเดิมๆ และสร้างความแปลกใหม่ให้กับวงการได้

สรุปเรื่อง “อย่ากลับบ้าน” แบบคร่าวๆ

ในช่วงแรกของซีรี่ส์ เราจะเข้าใจไปว่าเป็นการหลบหนีปัญหาครอบครัวของ “วารี” ที่รับบทโดย นุ่น-วรนุช กับลูกสาว “น้องมิน” ไปยังอำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา เพื่อไปอาศัยบ้านในวัยเด็กของนุ่นที่ไม่ได้กลับไปมากกว่า 30 ปีแล้ว การปูเรื่องแบบนี้ทำให้เราคิดว่าสองแม่ลูกนี้ต้องเอาตัวรอดจากผีที่อาศัยอยู่ในบ้านสยองขวัญหลังนี้เป็นแน่แท้

แต่พอผ่านช่วงแรกไปหลังจากน้องมินหายตัวไป โทนของซีรี่ส์จะพาไปแนวสืบสวนสอบสวน ที่นำโดย “สารวัตรฟ้า” (แพร-พิชชาภา) ที่ดูเหมือนว่าทางวารีต้องต่อสู้กับคำครหาว่าวิกลจริตที่ลูกตัวเองหายไป พร้อมทั้งไม่สามารถพิสูจน์อะไรได้เลย รวมถึงลุงนทีผู้ที่ดูแลบ้านเองด้วย ทำเหมือนกับว่าวารีเป็นคนแปลกหน้า

การทำสืบหาข้อเท็จจริงของสารวัตรฟ้าก็ดำเนินมาเรื่อยๆ แม้ว่าผีจะไม่ค่อยมีแล้วในช่วงนี้แต่ก็ยังแอบลุ้นระทึก จนไปถึงห้องลึกลับที่แม้แต่วารีเองก็ไม่เคยลงไป ในระหว่างทางฉากนี้ไฟส่องไปตามทางเดินได้อารมณ์เหมือนเล่นเกมส์ Resident Evil เลย จนนำไปสู่ห้องทดลองลึกลับของแม่วารี ที่วารีเคยเห็นแต่ในตอนเด็กแต่ไม่เคยลงไปสักครั้ง

เฉลยตอนจบเรื่อง “อย่ากลับบ้าน”

มาสู่จุดนี้ไกลจากหนังผีบ้านสยองขวัญไปเรียบร้อย เข้าสู่การย้อนเวลาพามึนงงแต่ก็ยังไม่สุดโต่งแบบ DARK หรอกนะครับ ไม่ปวดหัวขนาดนั้น เหตุการณ์ประหลาดในบ้านนั้นก็ถูกเฉลยเรียบร้อยว่าเกิดจากห้องทดลองที่ทำให้เกิดการย้อนเวลาได้โดยฝีมือแม่ของวารี “พนิดา” (ซินดี้ สิรินยา) นั่นเอง จนนำไปสู่สาเหตุของต้นเรื่อง ต่างๆ เช่น การเสียดวงตาของลุงนทีโดยฝีมือวารีในตอนโตเอง นั่นเลยไม่แปลกใจว่าทำไมลุงนทีมีอาการช็อตฟีลนิดหน่อยตอนเปิดประตูแล้วมาเจอคนที่มาทำร้ายในอดีต, คนบ้าเสียสติที่มาบุกรุกบ้านจนพลัดตกลงมากลางบ้านแล้วโคมไฟคลอกหน้าจนตายก็คือวารีนั่นเองและกลายเป็นผีในที่สุด

และเหตุการณ์ที่สำคัญคือ มินและวารีนั้นเป็นคนเดียวกัน เพียงเพราะพนิดาอยากได้มินมาแทนลูกของตัวเอง(วารีตัวจริง)ที่เสียชีวิตไปก่อนหน้านี้ ก็เลยเปลี่ยนตัวตนในขณะที่มินความจำถูกลบเลือนเพราะเหตุการณ์สะเทือนใจที่เห็นแม่ตัวเองถูกฆ่าตาย จึงเปลี่ยนชื่อจากมินเป็นวารี และจนเมื่อพนิดาเห็นวารีโตเป็นสาว ก็มาตระหนักได้ว่าตัวเองได้ฆ่าลูกสาวตัวเองไปแล้วเมื่อในอดีต จึงพยายามบอกวารีช่วงสุดท้ายของชีวิตว่า “อย่ากลับบ้าน” นั่นเอง

ส่วนตัวอยากตีมือคนเขียนบทในจุดนี้นิดหน่อย พนิดาเป็นคนสร้างเครื่องย้อนเวลามาเองแท้ๆ โอเคอาจจะตั้งใจย้อนเวลาจากปัจจุบันไม่ได้ตั้งใจย้อนเวลาเอาคนจากอนาคตมา แต่มันก็ต้องเอะใจบ้างสิ! แต่นี่ดันไม่เชื่อวารีในวัยผู้ใหญ่ที่ย้อนเวลามาว่าไม่ใช่ลูกของตัวเอง – แทนที่จะสืบสวนพูดคุยให้เข้าใจกัน…เฮ้อ!

เพื่อให้งงน้อยลง อธิบายไทม์ลูปให้เห็นภาพดังนี้

  1. เริ่มจากมิน (อายุ 5 ขวบ) ในปี 2567 หายตัวไปในบ้านจารึกอนันต์
  2. มินถูกส่งย้อนเวลากลับไปในปี 2535 (ย้อนไป 32 ปี) โดยห้องทดลองของพนิดา
  3. พนิดาพบมินและรับเลี้ยงเป็นลูก โดยตั้งชื่อใหม่ว่า “วารี”
  4. วารี (ซึ่งแท้จริงคือมิน) เติบโตขึ้นและแต่งงานกับยุทธชัย
  5. วารีให้กำเนิดลูกสาวและตั้งชื่อว่า “มิน”
  6. มินเติบโตจนอายุ 5 ขวบในปี 2567 และประวัติศาสตร์ก็วนซ้ำ

นี่คือวงจรที่ไม่มีจุดเริ่มต้นและจุดจบที่แท้จริง เพราะมินก็คือวารี และวารีก็คือแม่ของมิน ทำให้เกิดเป็นวงจรที่วนไปเรื่อยๆ (Causal loop) ดั่งคำถามไก่กับไข่อะไรเกิดก่อนกันนั่นแหละ หาคำตอบไม่ได้จากเหตุการณ์นี้

สิ่งที่ชอบในเรื่องนี้

เอาตั้งแต่ฉากเปิดเลย ในห้องนอนของน้องมิน ที่กำลังโดนผีคุกคามนั้น การมิกซ์เสียงในเรื่องนี้ทำออกมาดีมากๆ แยกเสียงกันชัดเจนยุบยับเลย การบาล๊านซ์เสียงสนทนากับเอฟเฟ็คก็ทำออกมาได้อย่างลงตัวของซีรี่ส์ไทยหรือภาพยนตร์ไทยเรื่องนึงเลย

งานภาพและโปรดักชั่นก่อนข้างเนี๊ยบ อ้างอิงยุคสมัยได้ดี ในส่วนของไซไฟย้อนยุคเครื่องย้อนเวลานั้นก็ทำออกมาได้ทัดเทียมงานต่างประเทศ คือดูแล้วเนียนตาไม่มีอารมณ์สะดุดของความไม่สมจริงน่ะครับ

ส่วนที่เหลือคือขาดไม่ได้เลย เหล่านักแสดงล่ะครับ ขับเคลื่อนด้วยการแสดงของ นุ่น-วรนุช ที่แสดงสีหน้าและอารมณ์ได้อย่างดี ส่วน แพร-พิชชาภา เรามักจะคุ้นตัวร้ายจากช่อง 3 มารอบนี้เล่นบทห้าวขึ้นพร้อมแบกท้องแก่ๆ ก็ทำออกมาได้ดี มีความน่าเชื่อถือว่าเป็นสารวัตรหญิง ที่มีความสงสัยและต้องการคลี่คลายปม น้องเจแปนก็เล่นบทกลัวผีออกมาได้น่าสงสารมากๆ ส่วนซินดี้ความร้ายยังคงเส้นคงวา สตาร์บัคก็เล่นดีเช่นกัน ยอมรับว่าแคสติ้งกันมาดีมาก ยกเว้นคนเดียวที่รู้สึกท่องบทไปหน่อยคือ ตุ้ย-ธีรภัทร

สัญญะแห่งปิตาธิปไตยในเรื่อง

เหตุการณ์เรื่องเส้นเวลาในเรื่อง จะถูกบอกให้จำได้ง่ายๆ คือ เกี่ยวข้องกับเหตุกาณ์รัฐประหารในประเทศไทย

  1. บ้านจารึกอนันต์ 2475 คือคณะคณะราษฎรปฏิวัติเปลี่ยนรูปแบบประเทศจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นประชาธิปไตย ในวันที่ 24 มิ.ย. พ.ศ. 2475 และคำว่าจารึก+อนันต์คงแปลได้ว่าลูปเวลาวนไปไม่มีสิ้นสุด
  2. พ.ศ. 2535 ช่วงเกิดการย้อนเวลาครั้งแรก ก็เป็นปีเกิดพฤษภาทมิฬซึ่งผลพวงเกิดจากรัฐประหารในปี 2534
  3. ปืนในเรื่องจดทะเบียน พ.ศ. 2549 เป็นปีที่รัฐประหารนายกทักษิณโดยบิ๊กบัง
  4. ช่วงที่วารีโตแล้วเป็นนักข่าวและไปทำข่าวรัฐประหารปี 2557 จนพบรักกับยุทธชัย เป็นปีที่บิ๊กตู่หักหลังรัฐบาลนายกยิ่งลักษณ์พอดี

นัยยะที่สอดแทรกไว้นอกจากที่ทำให้จดจำช่วงปีได้ง่าย เพราะอิงจากเหตุการณ์สำคัญในอดีตแล้ว ก็ถือว่าเป็นการสอดแทรกที่แยบยลพอตัว เพราะอำนาจทางการทหารเหล่านั้นล้วนเกิดจาก “ผู้ชาย” ทั้งนั้นในการตัดสินใจ

รวมถึงการซ้อมเมียเป็นดั่งกระสอบทรายของชายในเรื่อง ทั้งยุทธชัยและพ่อของสารวัตรฟ้า รวมถึงการมองข้ามความสามารถของเพศหญิงในการขึ้นตำแหน่งของสารวัตรฟ้าเช่นกัน เป็นการแสดงถึง “ชายเป็นใหญ่” ในเรื่องได้ดี แม้ว่าเรื่องพวกนี้ไม่ได้เป็นเส้นเรื่องหลักก็ตาม แต่ก็ถือว่าแทรกมาได้ดีในแบบที่ไม่ทำให้รู้สึกอึดอัด

มินเป็นลูกของใคร?

มินในเรื่องอย่ากลับบ้านเป็นลูกของใครนั้น นับเป็นหนึ่งเรื่องที่ชวนสงสัยที่สุดของเรื่องก็เพราะคำพูดของยุทธชัยที่บอกว่า “เด็กคนนั้นไม่ใช่ลูกผมด้วยซ้ำ” ก็เลยมาวิเคราะห์สาเหตุใดถึงพูดออกมาแบบนั้น

แบบแรก: เท่าที่คิดได้คือเพราะว่ามินและวารีคือคนคนเดียวกัน เพียงแต่อยู่คนละช่วงเวลา เมื่อวารีมีความสัมพันธ์กับยุทธชัยและให้กำเนิดมิน ทำให้เกิดปรากฏการณ์แปลกประหลาดทางพันธุกรรม เพราะตามหลักการปกติ มินควรได้รับ DNA 50% จากแม่ (วารี) และ 50% จากพ่อ (ยุทธชัย) แต่เนื่องจากวารีก็คือมิน DNA ของทั้งคู่จึงเป็นชุดเดียวกัน 100% ซึ่งไม่สามารถอธิบายได้ด้วยหลักพันธุศาสตร์ทั่วไป นี่คือหนึ่งในเหตุผลที่ทำให้ยุทธชัยรู้สึกว่ามินไม่ใช่ลูกของเขา เพราะผลตรวจ DNA จะแสดงความผิดปกติที่ไม่เคยพบมาก่อนในประวัติศาสตร์การแพทย์ ปรากฏการณ์นี้ในทางวิทยาศาสตร์เรียกว่า “Bootstrap Paradox” หรือ “Ontological Paradox” เพราะไม่สามารถระบุได้ว่า DNA ของมินมีต้นกำเนิดจากที่ใด โดยตามตรรกะนี้ มินจะไม่เคยมี “จุดเริ่มต้น” ทางพันธุกรรม ทำให้เกิดความผิดปกติในผล DNA ที่แสดงว่าเด็กเป็นลูกของแม่แต่มีความผิดปกติหรือเป็น “วงกลม” ทางพันธุกรรม

และการที่ยุทธชัยพูดออกมาแบบนี้ก็เพราะการเขียนบทให้เบี่ยงเบนเรื่อง “ยุทธชัยเอาลูกมาทำเมีย” ก็ได้นะครับ เพราะถ้าเป็นลูปนี้ ลูกและเมียของยุทธชัยก็คือคนเดียวกัน การเกิดของมินนั้นเป็นการกำเนิดขึ้นเองแบบผิดธรรมชาติ

แบบที่สอง: หนังไม่ได้เล่าไว้ แต่ก็เป็นไปได้ว่าวารีมีชู้ และมินนั้นเกิดมาจากชู้รักของวารี พอเรื่องแดงก็เลยทำให้เกิดปัญหาวารีเป็นที่รองรับอารมณ์ของยุทธชัย

แบบที่สาม: วารีโดนยุทธชัยซ้อมจนแท้งลูก ทำให้วารีต้องรับลูกบุญธรรมมาเลี้ยงแทน ซึ่งแบบนี้ก็แปลได้ว่าวารีตอนโตไปขโมยวารีตอนเด็กมานั่นแหละครับ ทำให้ยุทธชัยเอ่ยคำนี้ออกมา

แต่ไม่ว่าแบบใดมันก็เข้าสู่วงจรที่ไม่มีจุดเริ่มต้นและจุดจบที่แท้จริงดั่งที่บอกไปก่อนหน้านี้อยู่ดีล่ะครับ

ตัวอย่างซีรี่ส์ “อย่ากลับบ้าน”

แสดงความคิดเห็น : Kitchen Rai

Your email address will not be published. Required fields are marked *