ตามที่กรมการขนส่งทางบกได้ประกาศมาเกือบ 2 ปีได้ หากเลขทะเบียนรถซีดจาง สามารถติดต่อกรมการขนส่งทางบก เพื่อมาเคลือบมีใหม่ได้ฟรี โดยในประกาศจะระบุหมวดหมายเลขและจังหวัด ที่คาดว่าน่าจะมีปัญหาในการผลิตนั่นแหละครับ
หลังจากค้นหาข่าวแล้ว ดูว่าต้องใช้อะไรบ้างแล้วนั้น แต่เนื่องจากรถที่ใช้งานอยู่จดทะเบียนที่ต่างจังหวัด ช่วงที่กลับไปเยี่ยมบ้านที่ต่างจังหวัดก็เลยแวะไปกรมการขนส่งจังหวัดเพื่อสอบถาม ก็ได้ความว่าต้องรอ 5 – 7 วัน เพราะต้องส่งทะเบียนมาเคลือบที่กรมการขนส่งทางบกจตุจักร
รอไม่ไหวนานเกินไป พอกลับมากรุงเทพ ก็ไปที่จตุจักรเลย ตรงอาคาร 7 งานแผ่นป้ายทะเบียนรถ โดยขั้นตอนเอกสารนั้น “ไม่ได้มีอะไรตามประกาศเลย” จะว่าไปสะดวกก็สะดวก แต่มองอีกมุมก็เป็นปัญหาด้านการสื่อสารขององค์กรเหมือนกัน
ขั้นตอนการขอรับบริการเคลือบป้ายทะเบียน
👉 ถอดป้ายทะเบียนออกทั้งสองอัน หรือ จะเฉพาะอันที่ซีดก็ได้ ให้คงสภาพไม่มีรอยเจาะ หรือ ตัวเลขมันบู้บี้ บิดงอนิดๆ หน่อยได้
👉 เช็ดล้างทำความสะอาดฝุ่นออก เช็ดแห้ง
👉 เขียนใบคำร้อง (จริงๆ เป็นแบบสอบถามความพึงพอใจ) แล้วนั่งรอตรงนั้นล่ะครับ เดี๋ยวเจ้าหน้าที่เดินมาเก็บแผ่นป้ายเอง ไม่มีบัตรคิว ไม่มีเจ้าหน้าที่รับเรื่องแต่อย่างใด
ผมไปถึง 8 โมงเช้ามีคิวรอประมาณ 5 – 6 คน จนเวลา 8:10 เจ้าหน้าที่มาเก็บแผ่นป้าย โดยไม่ได้ขอดูเอกสารตามประกาศ เช่น สมุดจดทะเบียน หรือ บัตรประชาชนแต่อย่างใด คือมาเก็บป้ายไปทำอย่างเดียวนั่นแหละครับ พอถึงเวลา 8:20 เจ้าหน้าที่ก็เดินกลับมาพร้อมทะเบียนที่สีเข้มชัดเจนแล้ว พร้อมเรียกให้เดินไปรับเรียกตามทะเบียนรถพร้อมคืนแบบสอบถามก็เสร็จแล้ว ง่ายๆ แบบนี้เลย
แต่ก็แอบคิดว่า ทำไมขนส่งที่ต่างจังหวัดถึงไม่สามารถทำให้ได้ ต้องส่งมาที่ กทม. อย่างเดียว 🤔🤔🤔
โทษปรับของการใช้ทะเบียนซีดจาง
ถ้าเราใช้ “ป้ายทะเบียนรถซีดจาง” และไม่นำไปเปลี่ยน มีโทษปรับ 2,000 บาทนะครับ โดยอ้างอิงตามกฏหมายดังนี้
✅ หากผู้ขับขี่รถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ พบว่า ป้ายทะเบียนรถชำรุดหรือซีดจางจนมองไม่เห็นเลข ผู้ขับขี่มีหน้าที่ต้องมาขอเปลี่ยนป้ายทะเบียนใหม่ เนื่องจากป้ายทะเบียนที่ชำรุดจะส่งผลกระทบต่องานการกำกับดูแลความปลอดภัยให้กับประชาชนที่ใช้รถใช้ถนน หากใครเพิกเฉยไม่นำมาเปลี่ยนจะถือว่ามีความผิดตามกฎหมาย ต้องระวางโทษปรับ 2,000 บาท
✅ พ.ร.บ.รถยนต์ พ.ศ.2522 มาตรา 11 รถที่จดทะเบียนแล้วต้องมีและแสดงแผ่นป้ายและเครื่องหมายครบถ้วนถูกต้องตามที่กําหนดในกฎกระทรวง
✅ กฎกระทรวงกำหนดลักษณะ ขนาด และสีของแผ่นป้ายทะเบียนรถ พ.ศ.2547 ข้อ 3 ซึ่งออกโดยพระราชบัญญัติ รถยนต์ พ.ศ.2522 มาตรา 5(4) กำหนดว่า “แผ่นป้ายทะเบียนรถให้ติดตรึงไว้ในที่ที่เห็นได้ง่ายที่หน้ารถหนึ่งแผ่น และที่ท้ายรถหนึ่งแผ่น เว้นแต่รถจักรยานยนต์หรือรถพ่วงให้ติดตรึงที่ท้ายรถหนึ่งแผ่น การติดตรึงแผ่นป้ายต้องไม่กระทำในลักษณะที่วัสดุที่ยึดแผ่นป้ายนั้นอาจปิดบังหรือปิดทับตัวอักษรประจำหมวด หมายเลขทะเบียน และตัวอักษรบอกชื่อกรุงเทพมหานครหรือจังหวัด และต้องไม่นำวัสดุหรือสิ่งอื่นใดไม่ว่าจะก่อให้เกิดแสงสว่างหรือเรืองแสงหรือไม่ก็ตาม มาปิดทับ บัง หรือติดไว้ในบริเวณใกล้เคียงกับแผ่นป้ายทะเบียนรถจนไม่สามารถมองเห็นตัวอักษรประจำหมวด หมายเลขทะเบียน หรือตัวอักษรบอกชื่อกรุงเทพมหานครหรือจังหวัด”
อยากจะเขียนอะไรก็เขียนอ่ะครับ แต่ถ้าเขียนผิดหรือตกหล่นไปก็ขออภัยล่วงหน้านะครับ