Skip to content

ภาวะภาพยนตร์นอกกระแสและภาพยนตร์ไทยในประเทศไทยที่ต้องเผชิญ : การผูกขาดโรงหนังและราคาที่ควรจะเป็นธรรม

เวลาที่ใช้อ่าน : < 1 นาที

เคยอ่านดราม่าบนโซเชี่ยลเกี่ยวกับโรงหนังในไทยที่ผูกขาด ไม่มีที่ฉายให้กับหนังไทยหรือหนังนอกกระแส ทำให้ผู้ชมไม่มีตัวเลือกที่หลากหลาย และการผลิตหนังไทยในประเทศจะไร้การพัฒนา ส่วนอีกฝั่งนั้นก็มองว่าโรงหนังไม่ได้ทำการกุศล มีค่าใช้จ่ายพอขาดทุนไม่มีใครช่วยควัก ถึงกับไปไล่ให้สร้างโรงฉายหนังนอกกระแสเองเลย ซึ่งดูแล้วมันก็เป็นการมองต่างมุมที่เข้าใจได้ทั้ง 2 ฝั่งเลยนะ

หนังนอกกระแส/หนังไทย สู้กับ หนังฟอร์มยักษ์

ภาพยนตร์นอกกระแสหรือหนังไทยจากค่ายที่ไม่ดัง ต้องเผชิญกับความยากลำบากเสมอ เมื่อต้องนำหนังเข้าไปฉายในโรงภาพยนตร์ซึ่งก็มีไม่กี่เจ้าในเมืองไทย สาเหตุก็มีหลายประการ รวมถึงการขาดเงินทุน ทรัพยากรที่มีจำกัด และการแข่งขันจากการเจ้าใหญ่ที่มีงบประมาณจำนวนมหาศาล

สาเหตุหลักๆ ที่ทำให้หนังนอกกระแสเข้าฉายในโรงภาพยนตร์ได้ยากคือค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งการจัดจำหน่ายภาพยนตร์ต้องใช้เงินในการลงทุนจำนวนมากในด้านการตลาด การโฆษณา และกิจกรรมส่งเสริมการขาย ซึ่งดูแล้วเป็นเรื่องที่เอื้อมถึงยากมากๆ สำหรับผู้ผลิตหนังนอกกระแส หากไม่มีการสนับสนุนจากผู้ใหญ่ใจดี นั่นก็ทำให้โรงภาพยนตร์ไม่ดึงดูดใจให้นำหนังไปฉายนั่นล่ะครับ

อย่างในฝรั่งเศส ภาพยนตร์นอกกระแสนั้นเป็นส่วนสำคัญของเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมของประเทศ และรัฐให้การสนับสนุนอีกต่างหาก แต่ที่นี่เหล่าผู้สร้างภาพยนตนอกกระแสก็เริ่มเผชิญกับความยากสิ่งใหม่ เพราะจำนวนโรงภาพยนตร์ที่ฉายหนังนอกกระแสนั้นลดลงด้วยสาเหตุหลายๆ อย่าง รวมถึงโควิด-19 และการเกิดขึ้นของบริการสตรีมมิ่งได้เปลี่ยนวิธีการชมภาพยนตร์ ทำให้การเผยแพร่ภาพยนตร์อิสระในโรงภาพยนตร์ได้รับการท้าทายมากกว่าเดิมเข้าไปอีก

แต่ก็คงไปเทียบกับฝรั่งเศสไม่ได้หรอกนะครับ นั่นพร้อมทั้งเงินอุดหนุน และ ผู้ชมให้ความสำคัญช่วยกันอุดหนุนโรงหนังที่ฉายหนังนอกกระแส ที่ทั่วประเทศมีจำนวน 1,235 โรงที่รองรับฉายหนังนอกกระแสโดยเฉพาะเลยล่ะครับ ขณะที่ประเทศไทยมีโรงภาพยนตร์ทั้งหมด 1,103 โรงเอง

โรงภาพยนตร์ก็น้อยเมื่อเทียบกับจำนวนประชากร คือ จำนวนประชากรฝรั่งเศสนี่พอๆ กับไทยล่ะ แต่โรงหนังฝรั่งเศสมีเกือบแตะๆ 6 พันโรงเลย มากกว่าประเทศไทยเกือบๆ 6 เท่าตัวเลย

หรือถ้าจะลองเทียบจำนวนโรงภาพยนตร์กับประเทศที่อุตสาหกรรมภาพยนตร์ที่เติบโตสูงๆ อย่างเกาหลีใต้ แต่มีประชากรน้อยกว่าไทย 20 ล้านคน (ไทย 71 ล้านคน เกาหลีใต้ 51 ล้านคน) ช่วงก่อนโควิด (ปี 2019) เกาหลีมีโรงภาพยนตร์อยู่ที่ประมาณ 2,600 โรง และมียอดคนใช้บริการประมาณ 226 ล้านคนเข้าชม ขณะที่ปีเดียวกันที่ไทย มีจำนวน 1,090 โรง กับยอดคนใช้บริการที่ 57 ล้านคนเข้าชม ก็น่าจะพอบอกอะไรเกี่ยวกับธุรกิจนี้ในประเทศอยู่นะครับ ว่าการลงทุนไปเปิดโรงเองก็คงไม่ง่ายอย่างที่คิด

Number of cinema admissions in South Korea from 2004 to 2022(in millions) (www.statista.com)

หนังไทยมาแข่งกันเองด้วยการตัดราคาตั๋ว

พอมาถึงดราม่าเรื่องขุนพันธ์ 3 กับการต่อสู้ตัดราคากันเองของหนังไทยอย่าง “ทิดน้อย” ที่ลดราคาเหลือ 39 บาท เพียงเพราะว่าจะส่งท้ายก่อนออกจากโรง และบริษัทเจ้าของโรงภาพยนตร์นั้นเป็นแหล่งเงินทุนสร้างให้หนังเรื่องนี้

ส่วนตัวมองว่าการทำแบบนี้อาจไม่ยุติธรรมสำหรับภาพยนตร์ในประเทศด้วยกันอย่าง “ขุนพันธ์ 3” เแม้จะมองว่าหนังคนละเรื่อง แต่ก็ยังรู้สึกถึงความได้เปรียบในการแข่งขันอยู่ดี สิ่งนี้อาจส่งผลเสียต่อภาพยนตร์ในประเทศเรื่องอื่นๆ ที่ไม่ได้รับส่วนลดครั้งนี้ และอาจเป็นการทำลายโอกาสของการประสบความสำเร็จภาพยนตร์บางเรื่องได้เช่นกัน

โรงภาพยนตร์นั้นควรจะวางตัวเป็นกลางและให้โอกาสที่เท่าเทียมกันแก่ภาพยนตร์ทุกเรื่อง โดยไม่คำนึงถึงแหล่งที่มาของเงินทุน ก็เข้าใจได้ว่าโรงภาพยนตร์อาจต้องการสนับสนุนภาพยนตร์บางเรื่อง แต่การให้สิทธิพิเศษแก่บางเรื่องมันก็ทำลายความยุติธรรมและกระบวนการคัดเลือกจากผู้ซื้อตั๋วได้เช่นกัน นอกจากนี้ยังอาจนำไปสู่ความขัดแย้งทางผลประโยชน์และสร้างมาตรฐานที่ไม่เท่าเทียมกันแก่ผู้สร้างภาพยนตร์อีกด้วย


แสดงความคิดเห็น : Kitchen Rai

Your email address will not be published. Required fields are marked *