HUNGER ‘คนหิว เกมกระหาย’ ผลงานจากผู้กำกับของ สิทธิศิริ มงคลศิริ ที่เคยฝากผลงานเรื่อง ฤดูร้อนนั้น ฉันตาย (2013), แสงกระสือ (2019) ที่ดูแล้วมาแนวหนังที่มีความสยองขวัญทั้งสิ้น เมื่อได้มาทำเรื่องนี้ พร้อมกับบทภาพยนตร์จากคงเดช จาตุรันต์รัศมี ก็ยังคงคอนเซ็ปท์ที่ต้องมีความสยองอยู่ในเรื่อง แม้ว่าจะเกี่ยวกับอาหารก็ตาม
เมื่อตอนเริ่มดู พยายามลดอคติไปแล้ว แต่สุดท้ายในใจลึกๆ มันก็ยังอดเทียบกับหนังเรื่อง The Menu (2022) แม้ว่าในโลกนี้จะมีหนังที่เกี่ยวกับเชฟและสยองขวัญไปในตัวด้วยเยอะแยะก็ตาม แต่มันก็อดไม่ได้จริงๆ
ใน The Menu เล่าถึงความเบื่อหน่ายและเกิดการเบิร์นเอาท์จากการที่ต้องสร้างสรรค์อาหาร โดยคนที่มากินอาหารนั้นไม่ได้เห็นคุณค่าความตั้งใจของเชฟ ทำให้ความสุขในการทำอาหารนั้นหายไป
แต่ใน HUNGER ที่มาในธีมที่หม่นๆ ซึ่งเตรียมตัวที่จะบอกเราได้เลยว่า “การทำอาหารให้ดู” ครั้งนี้ไม่ได้สดใสและไม่มีความสุขอยู่แน่นอนเหมือนกันก็ตาม แต่เรื่องนี้จะไปเน้นขายความห้ำหั่นกันของคนครัวที่ให้อารมณ์เหมือนดู Whiplash (2014) และเปรียบเปรยกับชนชั้นของสังคมผ่านการทำอาหาร ดูแบบไม่ต้องคิดอะไรให้ลึกซึ้งหรือตีความก็เข้าใจได้เลย สรุปง่ายๆ ว่าตัวละครเชฟพอลนั้นแค่ “เกลียดคนรวย” เท่านั้น
ลำพังแค่การเป็นคนรวยแล้วมันผิดตรงไหน? หนังที่ใช้เวลาเล่าถึง 2 ชั่วโมง 10 นาที ไม่สามารถทำให้คนดูคล้อยไปถึงจุดนั้นได้แบบ The Menu หลายๆ ประเด็นก็รู้สึกละเลยการใส่รายละเอียดลงไป ที่จะทำให้หนังออกมาดีกว่านี้ได้ แต่กลับไปเน้นเรื่องของแต่ละเมนูอาหารในเรื่องที่เชื่อมโยงกับตัวละครต่างๆ รวมถึงการใช้เหล่าอินฟลูเอนเซอร์และเรื่องราวต่างๆ จากข่าวในไทย เลยออกมาดูสะเปะสะปะ ทำให้อารมณ์ของหนังดูพิลึกๆ ไป และเลือกที่จะนำเสนอความน่าสะอิดสะเอียนในการกินอาหารของคนรวย(ที่แคสมาดูไม่รวยเอาซะเลย)
รวมถึงประเด็นเรื่องความจน อย่างการเป็นเจ้าของร้านราดหน้าผัดซีอิ้ว ก็เล่าออกมาได้ไม่อินพอว่า “ออย” นั้นจนและผูกพันกับร้านของพ่อแค่ไหน? หลายๆ ฉากกับบทสนทนาในตอนดู ถึงกับหัวเราะในความ “อิหยังวะ” กับคำคมๆ ออกมาหลายหนเหมือนกัน และบทที่ขีดเส้นให้ออยก้าวข้ามจากผัดซีอิ้วหน้าเตาจนไปถึงระดับ Sous Chef ชนิดที่ข้ามหน้าข้ามตาคนจบจากสถาบันมามันก็เว่อร์เกินไปหน่อย ถ้าหนังเลือกที่เริ่มเล่าว่า นอกเวลานั้น “ออย” ไปเรียนรู้การทำอาหารแบบ “เชฟส์เทเบิ้ล” จากออนไลน์ มันคงจะดีกว่านี้ หากนึกไม่ออกลองนึกถึง กะปอม, เดียว, จำลอง จากรายการมาสเตอร์เชฟแบบนั้นน่ะครับ ส่วนตัวละคร “โตน” นั้นเปิดตัวออกมาได้ดูลึกลับ แต่พอดูไปนานๆ ความลึกลับและสุขุมหายไป แต่กลับแสดงความเป็นพระเอกมิวสิคที่เราเห็นอยู่บ่อยๆ ออกมาแทน ไม่มีความน่าเชื่อถือในตัวละคร “ออย” และ “โตน” เอาเสียเลย
สรุปแล้วหนังเรื่อง HUNGER ‘คนหิว เกมกระหาย’ ถือเป็นความท้าทายความใหม่ของภาพยนตร์ไทยในเรื่องเกี่ยวกับการทำอาหารและการเปรียบเปรยแขวะกัดคนรวยในสังคมไทย แต่เสียดายที่การเล่าเรื่องนั้นไม่สามารถนำไปสู่จุดที่หนังต้องการนำเสนอได้ ถ้าเปรียบกับอาหารก็คงขาดความกลมกล่อมในรสชาติ เช่น ภูมิหลังและการเข้ามาเป็นเชฟ, ประเด็นเรื่องของสังคมคนรวย, อีโก้ต่างๆ ของเชฟพอล ที่พอสรุปออกมาแล้ว ไม่มีแม้แต่เป็นคำถามปลายเปิดให้ไปคิดต่อกันเอาเองเลย มันหลักลอยๆ เคว้งๆ อยู่ในความหิวกระหายอยู่ในตอนต้นของหนังเท่านั้นเอง
อยากจะเขียนอะไรก็เขียนอ่ะครับ แต่ถ้าเขียนผิดหรือตกหล่นไปก็ขออภัยล่วงหน้านะครับ