Skip to content

[รีวิว] Aftersun : อยากให้อยู่นานกว่านี้ (2022)

เวลาที่ใช้อ่าน : 2 นาที

Aftersun ชื่อไทย “อยากให้อยู่นานกว่านี้” ได้ยินมาระยะนึงช่วงที่เข้าโรง แต่ค่อนข้างมีโรงที่จำกัดในการรับชมถ้าจำไม่ผิดนะ และเห็นหลายๆ เพจโพสท์ชมอยู่ แต่ก็พยายามหลบสปอยล์ไม่อ่านรายละเอียดเท่าไหร่ เมื่อเข้ามาฉายใน Netflix ก็ไม่พลาดที่จะรีบรับชม หนังนอกกระแสฟอร์มเล็กนี้จากอังฤษ

และเมื่อดูหนังเรื่องนี้จบก็พบว่า เป็นหนังที่จะทำให้รู้สึกเศร้าปนสุข และอดนึกถึงความทรงจำสีจางๆ ของพ่อลูกที่มีระยะเวลากว่าสองทศวรรษและสองประเทศไม่ได้ เขียนบทและกำกับโดย ชาร์ล็อตต์ เวลส์ (Charlotte Wells) ซึ่งเปิดตัวภาพยนตร์(ที่ไม่ใช่หนังสั้น)เรื่องแรกได้อย่างน่าประทับใจ

เรื่องจะเริ่มต้นด้วย “โซฟี”(Frankie Corio)เด็กหญิงวัย 11 ปีจากเอดินเบอระ,สก็อตแลนด์ ที่ไปเที่ยวช่วงวันหยุดฤดูร้อน ไปหาที่รับแสงแดดที่ประเทศตุรกีกับ “คาลัม”(Paul Mescal) พ่อของเธอ คาลัมเป็นพ่อวัยใสอายุ 30 แม้ว่าหนังไม่ได้เล่ารายละเอียดมาก แต่ก็รู้ได้ว่าแยกทางกับแม่ของโซฟีแล้ว และกำลังต่อสู้กับภาวะซึมเศร้ารวมถึงปัญหาทางการเงิน โดยพยายามซ่อนปัญหาเหล่านี้จากโซฟี เพื่อที่จะใช้เวลาร่วมกันให้มีความสุขมากที่สุดที่จะทำได้ แต่โซฟีนั้นดูเป็นเด็กช่างสงสัยและช่างสังเกต ชอบถ่ายภาพทุกอย่างด้วยกล้องวีดีโอ และเธอยังผูกมิตรกับวัยรุ่นที่แก่กว่าที่รีสอร์ทและเรียนรู้เรื่องความเป็นหนุ่มสาวและความรักจากพวกเขา เพื่อเตรียมก้าวสู่สู่วัยรุ่นของเธอในวันข้างหน้า

การเล่าเรื่องจะสลับไปมา ระหว่างความทรงจำในวัยเด็กกับชีวิตในวัยผู้ใหญ่ของโซฟี หากแทนด้วยสีช่วงวัยเด็กจะอบอวนไปด้วยแสงแดด ส่วนวัยสาวนั้นสีช่างดูมืดหม่น และเธอไม่เคยรู้เลยว่าเกิดอะไรขึ้นกับพ่อ หรือไม่เคยเข้าใจเลยว่าทำไมพ่อถึงดูไม่มีความสุข เมื่อโตขึ้นเธอจึงพยายามปะติดปะต่อเรื่องราวชีวิตจากของเก่าๆของพ่อ สัมภาษณ์เพื่อนและครอบครัวของพ่อ และฟุตเทจจากวีดีโอของเธอเองจากวันหยุดในตุรกีในหนังเรื่องนี้นั่นเอง จะกล่าวก็คือหนังเรื่องนี้สร้างจากเรื่องส่วนตัวของผู้กำกับเอง โดยพ่อของเธอนั้นเสียชีวิตตอนเธออายุ 16 ซึ่งเธอก็ได้นำไปสร้างในหนังสั้นของเธอก่อนหน้านี้ในเรื่อง Tuesday ในปี 2015

กลับมาใน Aftersun ภาพยนตร์เรื่องนี้จะเต็มไปด้วยช่วงเวลาแห่งอารมณ์แทบจะในทุกๆ ซีน หนึ่งในฉากที่น่าจดจำที่สุดคือตอนที่คาลัมสารภาพกับครูสอนดำน้ำว่าเขาไม่คิดว่าจะมีอายุเกิน 40 ในขณะที่โซฟีไม่รู้ถึงความสิ้นหวังของเขา อีกฉากที่จะทำให้สตั้นก็คือ ตอนที่โซฟีกำลังอัดวีดีโอเพื่อถามพ่อว่าวันเกิดพ่อตอนอายุ 11 นั้นทำอะไร และพ่อบอกให้โซฟีนั้นปิดกล้อง โซฟีเลยบอกว่าจะบันทึกผ่านกล้องเล็กๆ ในสมองของเธอเอง แต่กลับพบความเศร้านิดๆ ของพ่อในวัย 11 ที่ไม่มีใครจำวันเกิดเค้าได้ โดยในหนังนั้นเล่าด้วยภาพสะท้อนจากทีวีจอแก้วยี่ห้อ BEKO

แต่หนังยังมีช่วงเวลาที่ใส่ความตลกและซึ้งๆ เข้ามาอยู่เสมอ แสดงให้เห็นความผูกพันระหว่างคาลัมและโซฟีได้อย่างดี เช่น เวลาไปล่องเรือ, เล่นน้ำทะเลกับนักท่องเที่ยวคนอื่นๆ หรือตอนที่ไปเต้นด้วยกันที่บาร์คาราโอเกะ ภาพยนตร์เรื่องนี้ยังถ่ายทอดความงดงามและวัฒนธรรมของตุรกี ด้วยภาพอันสวยงามของทะเล ภูเขา และ รีสอร์ทที่พัก

และแม้หนังจะไม่ได้บอกช่วงเวลาในท้องเรื่องว่าถูกเซ็ตไว้ปีไหน ด้วยหนังไม่ได้ขายบรรยากาศความเป็นย้อนยุคเท่าไหร่ แต่เราก็จะรู้สึกได้เองว่าช่วง 90s แหละ มันจะค่อยถูกปล่อยผ่านบทเพลง อย่างเพลง Macarena(Los del Río), Tender(Blur), Tubthumping(Chumbawamba), หรือ Losing My Religion(R.E.M.) ที่โซฟีออกไปร้องคาราโอเกะ แต่พ่อไม่ยอมไปร้อง ซึ่งเพลงนี้มันคงสะเทือนจิตใจคนเป็นพ่อที่มีภาวะซึมเศร้าอย่างเลี่ยงไม่ได้ด้วยท่อน “I think I thought I saw you try” 

ด้วยหนังเนื้อเรื่องเรียบๆ ไม่ได้มีอะไรหวือหวาแต่สามารถทำออกมาได้ดี ส่วนนึงก็เพราะการแสดงอันยอดเยี่ยมของ Frankie Corio และ Paul Mescal ให้การแสดงออกมาได้เป็นธรรมชาติ โดยเฉพาะ Frankie Corio ถ่ายทอดออกมาให้ดูมีเสน่ห์แบบเด็กที่โตเกินวัยและพยายามเข้าใจพ่อของเธอ ส่วน Paul Mescal ก็ถ่ายทอดการแสดงดูเป็นผู้ชายที่รักลูกสาว แต่ไม่สามารถแบกรับกับปีศาจของตัวเองได้ ซึ่งทั้งสองทำให้หนังที่ดูเรียบๆ นี่แหละ ดูมีพลังขึ้นมาอย่างมากเลยทีเดียว

วิเคราะห์ตอนจบและสิ่งที่หนังจะสื่ออะไร

ชาร์ล็อตต์ เวลส์ ผู้กำกับและผู้เขียนบท กำลังพยายามบอกเล่าเรื่องราวของความสัมพันธ์พ่อลูกที่ทั้งสวยงามและน่าเศร้าให้ผู้ชมได้รับรู้ เธอกำลังแสดงให้เห็นว่าความทรงจำของโซฟีเกี่ยวกับพ่อของเธอก่อตัวขึ้นเมื่อวันหยุดปิดเทอมและเป็นครั้งสุดท้ายที่ทั้งคู่อยู่ด้วยกัน วิธีที่เธอพยายามเข้าใจพ่อของเธอมากขึ้นเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่ เธอยังเน้นย้ำถึงผลกระทบของภาวะซึมเศร้าและการฆ่าตัวตายต่อครอบครัว ซึ่งสามารถซ่อนเก็บไว้ข้างในโดยไม่ให้ใครเห็น และการที่ปล่อยให้ตอนจบคลุมเครือนั้น เพื่อสะท้อนความไม่แน่นอนและความลึกลับของชะตากรรมของคาลัม ให้ผู้ชมเติมเต็มช่องว่างด้วยจินตนาการของตนเอง 

และส่วนตัวคิดว่า “คาลัม” นั้นคงรู้สึกไม่เข้ากับถิ่นฐานเดิมอย่างเอดินเบอระได้ เลยทำให้ต้องเลิกลากับแม่ไป แถมยังพูดติดตลกว่าไม่ชอบที่นั่นเพราะไม่ค่อยมีแดด ซึ่งตรงนี้คิดว่าคล้ายกับ “ซู” ใน Where We Belong (ที่ตรงนั้น มีฉันหรือเปล่า) ที่ไม่อยากอยู่ในจันทบุรี และดีใจที่หนังนั้นไม่พาไปดาร์คเหมือนที่แอบกลัวความเป็นหนังนอกกระแส คือกลัวช็อคเหมือนใน Oldboy (2003) น่ะครับ

อ้างอิง:  en.wikipedia.org / rottentomatoes.com/ nytimes.com

แสดงความคิดเห็น : Kitchen Rai

Your email address will not be published. Required fields are marked *