Skip to content

โควิด-19 เพื่อนบ้านประสบปัญหา เราก็ประสบปัญหาเหมือนกัน การช่วยเหลือเป็นสิ่งที่ถูกต้องมั้ยนะ ?

เวลาที่ใช้อ่าน : 2 นาที

วันนี้ได้มีโอกาสไป สภาธุรกิจไทย-เมียนมาร์ เนื่องจากงานที่ทำอยู่เกี่ยวข้องกับธุรกิจในพม่า และเจ้านายก็เป็น 1 ในคณะกรรมการของสภานี้ ก็ทำให้ได้รู้เกี่ยวกับนักธุรกิจ นักลงทุนต่างๆ ที่ต้องการขยายธุรกิจไปประเทศพม่า โดยมารับความรู้ ความเข้าใจในธุรกิจเพื่อนบ้านของเรา

แม้ตัวเองจะเข้าออกประเทศพม่า โดยเฉพาะเมืองใหญ่อย่าง “ย่างกุ้ง” มาตั้งแต่ปี 2012 ก็นับว่ายังไปทันเห็นการเปลี่ยนแปลงหลังจากเปิดประเทศอีกครั้ง แต่บางเรื่องก็ไม่เคยได้รู้ในมุมของนักลงทุน โดยเฉพาะนักลงทุนที่ทำธุรกิจมาตั้งแต่สมัยประเทศยังไม่เปิดขนาดนี้ ก็นับว่าได้รับประสบการณ์กันล้ำค่าเลยล่ะครับ

และในช่วงโควิด-19 ระบาดนี้เอง ในขณะที่หลายๆ ประเทศเริ่มควบคุมไวรัสไม่ให้ลุกลามบานปลาย กลับกันประเทศพม่ากลับมีเคสที่ตรวจพบเยอะขึ้นทุกวันๆ จนน่าเป็นห่วง

ย้อนกลับไปเมื่อช่วงต้นปี คนพม่ายังมีความเชื่อแบบผิดๆ เกี่ยวกับสถานการณ์ที่โลกกำลังเริ่มหวาดระแวงอยู่ ที่หลังจากอู่ฮั่นได้ลุกลามไปยังหลายๆ ประเทศ แต่ประชาชนในพม่าเองกลับไม่ได้รู้สึกตื่นตัวหรือกลัวแต่อย่างใด ยกตัวอย่างการ์ตูนที่แชร์ๆ กันในช่วงต้นปีข้างล่างนี้

มีอยู่ช่วงนึงสหราชอาณาจักรกังวลกับประชาชนของตัวเองที่อาศัยอยู่ในโลกที่สาม เป็นห่วงในเรื่องสาธารณสุขในประเทศเหล่านั้น ทำให้ประกาศให้ประชาชนตัวเองกลับมาประเทศตัวเอง แต่ก็ไม่วายคนพม่ากลับแซะกลับว่าในประเทศตัวเองนั้นไม่มีเคส, สิ่งของอุปโภคบริโภคไม่ขาดแคลน แถมยังมียาพื้นบ้าน อารมณ์ประมาณยาวิเศษณ์รักษาโลก ที่ชื่อว่า Sayar Kho (ยาหม่องนั่นแหละครับ!!)

ในช่วงที่เมืองไทยระบาดหนัก จนถึงขั้นประกาศเคอร์ฟิวนั้น ก็ยังแอบห่วงน้องๆ ทีมงานพม่าที่อยู่ในย่างกุ้ง ก็ได้บอกได้เตือนให้รู้จักระวังตัว แม้ในตอนนั้นที่นั่นเคสยังน้อยกว่าที่เจอในไทย แต่ก็แอบเชื่ออยู่ในใจเล็กๆ ว่าธรรมชาติของคนพม่านั้น น่าจะติดต่อกันง่ายกว่าคนไทยแน่ๆ

เพราะอะไร ?

คนพม่าเองจะไม่ค่อยสนใจระยะการใกล้ชิดเวลาพูดคุย คือจะบอกยังไงดี คนเราจะมีระยะของความสนิทชิดเชื้ออยู่ใช่มั้ย ? คนที่เราเพิ่งรู้จัก เวลาคุยก็จะมีระยะห่าง กับเพื่อนสนิทก็อาจจะถึงเนื้อถึงตัวกันได้ คนรักก็สามารถใกล้ชิดกันมากกว่าความสัมพันธ์แบบอื่นๆ เป็นเรื่องปกติใช่มั้ย ?

แต่กับคนพม่าบางคน แม้เป็นคนไม่รู้จัก แต่เวลาการพูดคุยสนทนาด้วย หน้านี่แทบจะจ่อกันอยู่แล้ว!!! ฮ่าาาาา

เรื่องระยะการพูดคุยของบ้านเมืองเค้า คงเป็นธรรมชาติของบ้านเมืองเค้าแบบนี้ล่ะครับ บางครั้งผู้ชายกับผู้ชาย โดยเฉพาะเด็กๆ วัยรุ่น ยืนจับมือกัน นั่งจับมือกัน แต่ไม่ใช่คู่จิ้นอย่างที่คิดนะ ก็แมนๆ นี่ล่ะ แค่เค้าไม่ได้สนใจในระยะห่างอย่างที่เราคิด

อีกเรื่องก็การบ้วนหมาก แม้ในระยะหลังๆ การเคี้ยวหมากเริ่มไม่เป็นที่นิยมกับคนรุ่นใหม่เท่าไหร่ แต่ก็ใช่ว่าจะหายไปเลย หลายๆ คนยังเคี้ยวอยู่ ซึ่งการเคี้ยวน่ะไม่เท่าไหร่ แต่การเคี้ยวไปด้วย พูดไปด้วย แถมบ้วนทิ้งแบบอย่างจะบ้วนตรงไหนก็บ้วน แหงล่ะ…โควิดต้องแพร่กระจายได้ง่ายแน่ๆ พอเล่าเหตุผลอันนี้ให้น้องในทีมพม่าฟัง เค้าก็เข้าใจเลย ก็พร้อมเตรียมตัวระวังมากขึ้นบ้างล่ะ

สุดท้ายสิ่งที่แอบคิดไว้ว่าจะต้องหนักกว่าที่ไทย ก็เป็นจริง

แม้การคาดการณ์ GDP ของพม่าจะเติบโตกว่าไทย แต่ลึกๆ แล้วบ้านเค้าก็ยังล้าหลังอยู่ในหลายๆ ด้าน พอมีการตรวจโควิดได้มากยิ่งขึ้น ก็ยิ่งพบเคสมากยิ่งขึ้นตามไปด้วย ซึ่งดูแล้วไม่มีท่าทีจะลดถอยลงแต่อย่างใด ทำให้หลายๆ อย่างเริ่มขาดแคลน โดยเฉพาะอุปกรณ์ทางการแพทย์ ชุดป้องกันต่างๆ เป็นที่มาที่สภาธุรกิจไทย-พม่าเลยเปิดรับบริจาคจากภาคเอกชน

หลายๆ ประเทศก็ประสบปัญหา โดยเฉพาะประเทศเราก็ไม่ได้ร่ำรวยอะไร ทำไมต้องช่วยเหลือ ?

ก็เป็นสิ่งที่น่าคิดเหมือนกันนะ แต่พอได้ฟังจาก คุณกริช อึ้งวิฑูรสถิตย์ ประธานสภาธุรกิจไทยเมียนมาแล้ว ก็เปลี่ยนความคิดไปสิ้นเชิง…

คุณกริชให้เหตุผลว่า เหตุที่ต้องช่วยก็เพราะว่าเรามีชายแดนติดกับประเทศพม่ายาวมากกว่า 2 พันกิโลเมตร เมื่อวันที่เพื่อนบ้านเราเกิดปัญหา สุดท้ายคนในบ้านเค้าก็ต้องหนีตายเข้ามาฝั่งไทยอยู่ดี ซึ่งมันเป็นเรื่องที่ห้ามได้ยาก

ฝั่งรัฐบาลของพม่าเองก็ไม่ได้ร้องขอในความช่วยเหลือ เพราะเข้าใจความเป็นไปในหลายๆ ประเทศก็ประสบปัญหาอยู่เหมือนกัน

หน่วยงานเอกชน ห้างร้านต่างๆ ช่วยเหลือบริจาคอุปกรณ์ทางการแพทย์ ช่วยได้ก็ช่วยกันไป ก่อนหน้านี้เราก็เคยช่วยอู่ฮั่น วันนึงจีนและอู่ฮั่นเริ่มดีขึ้น เราเริ่มแย่เค้าก็ช่วยบริจาคกลับมายังประเทศไทย และตอนนี้ประเทศไทยอุปกรณ์ป้องกันต่างๆ ก็เริ่มผลิตเองได้ การช่วยเหลือสิ่งเหล่านี้ก็ไม่ใช่เรื่องเหนือบ่ากว่าแรงแต่อย่างใด

พร้อมทั้งยังเล่า สมัยคุณพ่อคุณแม่คุณกริช ก็หนีภัยแล้งมาจากประเทศจีน มาอาศัยแผ่นดินไทยในการเริ่มตั้งตัวใหม่ คุณแม่คุณกริชเล่าว่า ระหว่างโล้สำเภามา บนเรือประมาณพันคน มีตายกันเกือบทุกวัน ตายแล้วก็ต้องโยนทิ้งลงทะเลกันไป เลยน่าจะเข้าใจว่าหากเกิดปัญหาแล้วแก้ไขไม่ได้หรือไม่ได้รับการช่วยเหลือที่เพียงพอ สุดท้ายมนุษย์ก็ต้องดิ้นรนเอาตัวรอดอยู่ดี

พอผมฟังแล้วก็ อืมม… ก็จริงนะ


แสดงความคิดเห็น : Kitchen Rai

Your email address will not be published. Required fields are marked *